KTAM ขายกองตราสารหนี้ตปท. ถึง 19 มิ.ย.นี้

KTAM ขายกองตราสารหนี้ตปท. อายุ 12 เดือน ชูผลตอบแทน 1.45% ต่อปี ถึง 19 มิ.ย.61


นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 188 เสนอขายตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2561 อายุ 12 เดือน

โดยจะเน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภทเงินฝากประจำ Agricultural Bank of China, China Construction Bank Asia, AL Khalij Commercial Bank ในสัดส่วนสถาบันการเงินละ 19% ลงทุนใน Bank of China 15% และลงทุนในตราสารหนี้ ICICI Bank LTD-SPON  ADR และ MASHREQBANK  สถาบันการเงินละ 14% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ผลตอบแทนประมาณ 1.45% ต่อปี

สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศ  มีการปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ  ตามแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามียอดซื้อสุทธิประมาณ 35,437 ล้านบาท

ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ ตามแรงขายเพื่อลดความเสี่ยงหลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤษภาคมออกมาดีกว่าคาด รวมถึงเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนในฝั่งยูโรโซนหลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มที่จะลดขนาดการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าคาด

โดยสรุปอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ อายุคงเหลือ 2 ปี อยู่ที่ 2.5% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี  อยู่ที่ 2.77% ต่อปี และอายุคงเหลือ10 ปี อยู่ที่ 2.93%ต่อปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ขณะเดียวกันเฟดได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้

โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในเดือนก.ย. และธ.ค. ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมีการปรับตัวดีขึ้น  การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปรับตัวขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลง และการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้น

นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 2.8% จากเดิมที่ 2.7% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้ สู่ระดับ 2.10% จากเดิมที่ระดับ 1.9% ส่วนอัตราการว่างงานในปีนี้ เฟดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.6% จากเดิมที่ 3.8%

Back to top button