เปิด 10 หุ้นส่งออกตัวจี๊ด ลุ้นรายได้ Q2/61 โตแจ่ม! รับปัจจัยบวก 2 เด้ง
เปิด 10 หุ้นส่งออกตัวจี๊ด ลุ้นรายได้ Q2/61 โตแจ่ม! รับปัจจัยบวก 2 เด้ง ส่งออกขยายตัว-เงินบาทอ่อนค่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทล่าสุดปิดวันที่ 21 มิ.ย.2561 อยู่ที่ระดับ 32.96 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากวานนี้ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.81 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าตามทิศทางภูมิภาค ตามแรงซื้อดอลล่าร์สหรัฐฯ และเงินทุนไหลออก
โดยประเด็นดังกล่าว จะส่งผลดีต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น (บจ.) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น เมื่อนำเงินดอลล่าฯมาแลกเป็นเงินบาทจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทมีเพิ่มขึ้นจากการที่เงินบาทอ่อนค่าลง
นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน พ.ค.61 โดยการส่งออกมีมูลค่า 22,256 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว11.40% ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.61) การส่งออกมีมูลค่า 104,031 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 11.55%
โดยกระทรวงพาณิชย์มั่นใจการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8% อย่างแน่นอน หลังจากช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเกิน 10%
ทั้งนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมข้อมูลหุ้นที่ได้รับผลดีจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง และรายได้ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องมานำเสนอโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหาร,กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์ น่าจะได้รับผลดีมากสุด อาทิ HANA,SVI,KCE,DELTA, AH,SAT,CPF,TU,TFG และ GFPT
โดย กลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย HANA,SVI,KCE,DELTA,AH และ SAT โดย HANA มีรายได้อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ 100% ขณะที่ต้นทุนรูปดอลลาร์สหรัฐ 60% เทียบกับ SVI ซึ่งมีรายได้อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ 70% และต้นทุนดอลลาร์สหรัฐ 50%
ฟาก KCE รายได้อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ 70% ขณะที่ต้นทุนดอลลาร์สหรัฐ 35% และ DELTA ซึ่งมีรายได้อยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐ 72% และต้นทุนดอลลาร์สหรัฐ 50%
สำหรับ กลุ่มของอาหารส่งออกประกอบด้วย CPF,TU,TFG,GFPT โดย บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 28.25 บาท/หุ้น โดยคาดว่าจะเห็นการดำเนินงานของ CPF ฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป จากราคาเนื้อสัตว์ที่เริ่มฟื้นตัวทั้งในไทยและเวียดนาม โดยเฉพาะในเวียดนามคาดราคาหมูผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนราคาไก่อยู่ที่ 32 บาท/กิโลกรัม ขณะที่จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 32-33 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ มีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อราคาขายที่เริ่มฟื้นตัวและจะเป็นปัจจัยหนุนให้การดำเนินงานกลับมาเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน ณ ราคาปัจจุบันทางฝ่ายปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ปรับราคาพื้นฐานเพิ่มเป็น 28.25 บาท
ด้าน บล.บัวหลวง แนะนำ “ซื้อ” TU ราคาเป้าหมาย 22.50 บาท/หุ้น โดยมองว่าถึงแม้การตกลงยอมความในคดีความระหว่าง TU และวอลมาร์ทที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในเดือนพ.ค. จะส่งผลให้ TU ต้องทำการตังสำรองค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในไตรมาส 2/61 แต่ประเมินว่าเป็นเพียงแค่ปัจจัยลบระยะสันที่บันทึกครังเดียว ในขณะที่กำไรหลักของ TU มีแนวโน้มกลับมาฟืนตัวในช่วงไตรมาส 2/61 และไตรมาส 3/61 จากความสำเร็จในการเจรจาปรับเพิ่มราคาขายสำหรับผลิตภัณฑ์แบรนด์ รวมถึงต้นทุนสินค้าคงคลังเฉลี่ยและราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สมดุลกันมากขึ้น เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หนุนโดยกำไรหลักที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวจำไตรมาสก่อนตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป
ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ตามที่มีข่าวออกมาว่า บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) เล็งทุ่มงบราว 4-5 พันล้านบาท ขยายโรงเชือดและแปรรูปใหม่ หวังเพิ่มกำลังผลิตบุกตลาดจีนเต็มที่เพื่อหวังขยายพอร์ตต่างแดนเพิ่มนั้น ฝ่ายวิจัยมีความเห็นว่า การขยายกำลังการผลิตจะสนับสนุนการเติบโตระยะยาวซึ่งรวมถึงการส่งออกไปจีน แต่ในปีนี้กำไรยังไม่สดใส แม้กำไรในไตรมาส 2/61 มีแนวโน้มฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามผลของฤดูกาล แต่ยังลดลงมากเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาไก่ที่ลดลง และ McKey เพิ่งเริ่มใช้กำลังการผลิตใหม่ แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 13.10 บาท เทคนิคแกว่งกรอบแคบ 11.7-12.5 บาท
*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน