สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศประจำวันที่ 22 มิ.ย. 2561


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (22 มิ.ย.) หลังจากร่วงลงติดต่อกันมา 8 วัน เช่นเดียวกับดัชนี S&P ที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยตลาดได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่พุ่งขึ้นตามราคาน้ำมัน ภายหลังจากที่โอเปกมีมติเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมครั้งล่าสุด แต่ไม่ระบุปริมาณชัดเจน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากอย่างที่ตลาดกังวลก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ดัชนี Nasdaq ปิดแดนลบ เนื่องจากหุ้นเทคโนโลยีร่วงลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,580.89 จุด เพิ่มขึ้น 119.19 จุด หรือ 0.49% ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,754.88 จุด เพิ่มขึ้น 5.12 จุด หรือ 0.19% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,692.82 จุด ลดลง 20.14 จุด หรือ -0.26%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดพุ่งขึ้นแข็งแกร่งเมื่อวันศุกร์ (22 มิ.ย.) หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในภาคธุรกิจของยูโรโซนนั้นเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากที่ชะลอตัวมาหลายเดือน ประกอบกับได้แรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ภายหลังราคาน้ำมันดิบพุ่งรับผลประชุมโอเปกที่มีมติเพิ่มกำลังการผลิต แต่ไม่ระบุปริมาณชัดเจน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าน่าจะเพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่ตลาดกังวลก่อนหน้านี้

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวขึ้น 4.16 จุด หรือ 1.09% ปิดที่ 385.01 จุด อย่างไรก็ตาม ทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวลง 1.1%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,387.38 จุด เพิ่มขึ้น 71.37 จุด หรือ 1.34% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,579.72 จุด เพิ่มขึ้น 67.81 จุด หรือ 0.54% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,682.27 จุด เพิ่มขึ้น 125.83 จุด หรือ 1.67%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดดีดตัวแรงเมื่อวันศุกร์ (22 มิ.ย.) จากแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน ภายหลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ขานรับที่ประชุมโอเปกมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ไม่ระบุปริมาณชัดเจน โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าทางกลุ่มไม่น่าจะเพิ่มการผลิตมากอย่างที่ตลาดกังวลกันก่อนหน้านี้ และการเพิ่มกำลังการผลิตในระดับดังกล่าวจะไม่กดดันราคาน้ำมันให้ดิ่งลง

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปรับตัวขึ้น 125.83 จุด หรือ 1.67% ปิดที่ 7,682.27 จุด และเพิ่มขึ้น 0.6% ตลอดทั้งสัปดาห์

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นเมื่อวันศุกร์ (22 มิ.ย.) ขานรับผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งมีมติเพิ่มกำลังการผลิต แต่ไม่ระบุปริมาณชัดเจน โดยนักวิเคราะห์มองว่าปริมาณน้ำมันที่ทางกลุ่มจะผลิตเพิ่มนั้น น่าจะน้อยกว่าที่ตลาดกังวลกันก่อนหน้านี้ ขณะที่เบเกอร์ ฮิวจ์ เผยแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐลดลงครั้งแรกในรอบ 12 สัปดาห์

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ปรับตัวขึ้น 3.04 ดอลลาร์ หรือ 4.6% ปิดที่ 68.58 ดอลลาร์/บาร์เรล และพุ่งขึ้น 5.8% ตลอดทั้งสัปดาห์

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ดีดขึ้น 2.50 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 75.55 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 2.9% ทั้งสัปดาห์

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (22 มิ.ย.) โดยฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เพราะได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ขยับขึ้น 20 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 1270.70 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่ทั้งสัปดาห์ สัญญาทองคำปรับตัวลดลง 0.6%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 13.3 เซนต์ หรือ 0.81% ปิดที่ 16.459 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มลง 10.10 ดอลลาร์ หรือ 1.17% ปิดที่ 873.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 80 เซนต์ หรือไม่ถึง 0.1% ปิดที่ 946.40 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้น ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (22 มิ.ย.) หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูล PMI ที่แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในภาคธุรกิจของยูโรโซนนั้นเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นจากที่ชะลอตัวมาหลายเดือน สวนทางกับข้อมูลดังกล่าวของสหรัฐที่ปรับตัวลดลง

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1662 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1622 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3261ดอลลาร์ จากระดับ 1.3253 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7440 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7389 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแตะที่ระดับ 109.98 เยน จากระดับ 109.86 เยน ขณะที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9879 ฟรังก์ จากระดับ 0.9908 ฟรังก์ และร่วงลงแตะ 1.3268 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.3305 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button