ดราม่าคลื่นความถี่.!?
จำได้ว่าก่อนถึงวันที่ 15 มิ.ย. 2561 “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุชัดว่า เชื่อว่าวันยื่นซองประมูลคลื่น 1800 MHz จะมีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC มายื่นประมูล (แน่ ๆ) “แต่ถ้าไม่มีใครมาประมูลจะต้องทบทวนหลักเกณฑ์และใช้เวลาเป็นปีหรือปีกว่าถึงจะประมูลใหม่”
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
จำได้ว่าก่อนถึงวันที่ 15 มิ.ย. 2561 “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุชัดว่า เชื่อว่าวันยื่นซองประมูลคลื่น 1800 MHz จะมีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC มายื่นประมูล (แน่ ๆ) “แต่ถ้าไม่มีใครมาประมูลจะต้องทบทวนหลักเกณฑ์และใช้เวลาเป็นปีหรือปีกว่าถึงจะประมูลใหม่”
แต่ครั้น 15 มิ.ย. 2561 มาถึง กสทช. กลายเป็น “แม่สายบัวแต่งตัวเก้อ” เพราะทั้ง ADVANC และ DTAC ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดย “ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ซีอีโอ DTAC ระบุว่า “DTAC มั่นใจในการให้บริการอย่างต่อเนื่องจากจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ถือครองมากพอ ที่จะรองรับการเติบโตการใช้งานดาต้าของลูกค้าและเตรียมมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อไม่กระทบการใช้งานจากกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่”
ขณะที่ ADVANC ระบุว่า “ปัจจุบันมีคลื่นความถี่มากถึง 55 MHz มากเพียงพอ สำหรับส่งมอบบริการให้ลูกค้า โดยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ในการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงรองรับลูกค้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย”
ทำให้ท่าที กสทช.ที่แข็งกล้าเริ่มอ่อนลง โดยแก้เกี้ยวว่า กสทช.เตรียมหารือ คสช. หลังค่ายเอกชนไม่สนใจเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และเปิดช่องทางลงให้ตัวเองว่าจะเปิดประมูลใหม่ภายใน 1-2 เดือน แต่ยังมีเสียงคำรามขู่ว่า “งดเยียวยาลูกค้าดีแทค”..!!??
ล่าสุด (25 มิ.ย.) ที่ประชุม กสทช.เห็นชอบข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ให้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz วันที่ 18 ส.ค. และจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz วันที่ 19 ส.ค.นี้
พร้อมปรับเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz ด้วยการแบ่งใบอนุญาตที่จะจัดการประมูลออกเป็น 9 ใบ ขนาดความถี่ใบละ 5 MHz ผู้ประมูลสามารถประมูลสูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นใบละ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท
แถมที่ประชุม กสทช.ได้รับทราบกรณี DTAC มีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช.แจ้งความพร้อมเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz อีกด้วย
จากที่ไล่เรียงมามีประเด็นให้ฉุกคิดและตั้งคำถามอยู่ไม่น้อย เริ่มจาก กสทช.ที่ดูจะมีท่าทีแข็งขันก่อนวันยื่นประมูล แต่ครั้น ADVANC และ DTAC ไม่เข้าประมูล..เสมือนท่าทีเปลี่ยนไปไม่น้อย มากไปกว่านั้น มติที่ประชุม กสทช.ล่าสุดให้นำคลื่น 900 MHz ออกมาประมูล (ทั้งที่เคยลงมติว่าไม่เอามาประมูลแน่นอน)
ส่วนคลื่นความถี่ 1800 MHz ดูจะมีการแก้ไขเกณฑ์ประมูลใหม่ที่ “รวดเร็ว ฉับไว” จนผิดสังเกต (ไหนบอกว่าใช้เวลาเป็นปี) เสมือนซักซ้อมกันมาเป็นอย่างดี หรืองานนี้ “ทำเพื่อใคร” หรือไม่..!??
ขณะที่ DTAC ในวันที่ประกาศว่าไม่ยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz ออกมาการันตีทั้งผ่านเอกสารข่าวและอินโฟกราฟิกตามสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ว่า “มีคลื่นเพียงพอกับการให้บริการลูกค้า” แต่ไฉนเลยจึงต้องร่อนจดหมายถึง กสทช.ว่าพร้อมเข้าประมูลคลื่น 900 MHz (ไหนว่ามีคลื่นเพียงพอไง)
การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ครั้งนี้ มันจึงไม่ต่างอะไรกับ “ละครน้ำเน่า” ที่ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา..ใช่หรือไม่..!!? แต่เรื่องนี้ “เข้าใจหัวอก กสทช.จริง ๆ” เพราะหากการประมูลคลื่นความถี่ ไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นไม่ได้..นั่นหมายถึง โครงการอภิมหาเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ของรัฐบาล..คงลำบากไม่น้อยทีเดียว..!?
ล้อมกรอบ :
กรอบเวลาประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz
-วันที่ 5 ก.ค. 61 นำร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
-วันที่ 6 ก.ค.-7 ส.ค. 61 ดำเนินการเชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล
-วันที่ 8 ส.ค. 61 เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล
-วันที่ 9-13 ส.ค. 61 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล
-วันที่ 15 ส.ค. 61 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ
-วันที่ 16-17 ส.ค.61 ชี้แจงกระบวนการประมูลและ Mock Auction
-วันเสาร์ที่ 18 ส.ค. 61 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz
-วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 61 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz