สงครามเทคโนโลยี
ข่าวร้ายจาก หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ทำให้ผลบวกของราคาน้ำมันดิบของชาติส่งออกน้ำมัน มลายหายไปในไม่กี่ชั่วโมง บ่งชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นอะไรที่มากกว่าตัวเลขทางการค้าปกติ แต่เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีทางประนีประนอมในเรื่องการเป็นเจ้าเทคโนโลยี
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ข่าวร้ายจาก หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ทำให้ผลบวกของราคาน้ำมันดิบของชาติส่งออกน้ำมัน มลายหายไปในไม่กี่ชั่วโมง บ่งชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นอะไรที่มากกว่าตัวเลขทางการค้าปกติ แต่เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีทางประนีประนอมในเรื่องการเป็นเจ้าเทคโนโลยี
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนที่จะห้ามบริษัทของจีนเข้าลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และจะห้ามบริษัทสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีให้กับจีน โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง
ทั้งนี้ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ อาจจะประกาศมาตรการดังกล่าวภายในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้นโยบาย “เมดอินไชน่า 2025″ (Made in China 2025) ซึ่งจีนได้ริเริ่มเป้าหมายดังกล่าว เพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยี
ข่าวดังกล่าว ไม่มีการปฏิเสธจากทำเนียบขาว ส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นแน่นอนเกือบ 100%
บนเส้นทางของการเจรจาเพื่อหาทางออกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ปิดห้องลับคุยกันยกที่สองไปแล้ว ซึ่งดูจะยังไม่มีผลทางบวกอะไร นอกจากคำพูดสวยหรูฉาบด้วยกลีบกุหลาบของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ข่าววงในระบุว่า สาเหตุของการตกลงไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องเหล็กอะลูมิเนียม เนื้อหมู หรืออะไรที่ยกขึ้นมาเล่นงานกัน แต่เป็นเรื่องอนาคตที่ทั้งสองฝั่งจะไม่มีการลดราวาศอกให้กันคือ สินค้าและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี
หากสหรัฐฯ เล่นงานจีนจริงในทั้งสองประเด็น เท่ากับว่าสงครามการค้าได้บานปลายเป็นสงครามการลงทุน และสงครามเศรษฐกิจในระดับเข้มข้นขึ้น
ดังที่ทราบกันดี ความเหนือกว่าในเทคโนโยลีการผลิตและการทหารของสหรัฐฯ โดดเด่นมาตลอดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ด้วยการระดมทรัพยากรบุคคลจากยุโรปและเยอรมนีจำนวนมหาศาล ที่ถือว่าเป็น “ของขวัญชิ้นเอกของฮิตเลอร์” อันเสมือนการได้รับความรู้ทางลัด
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งทางทหารและการผลิตเชิงพาณิชย์ (ที่ปนเปกันจนยากจะแยกออก) เกือบทุกสาขา ตกอยู่ในการครอบครองของสหรัฐฯ ชนิดที่เรียกว่า “ทิ้งห่าง” ชาติอื่น ๆ
สถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตร และรายชื่องานด้านลิขสิทธิ์ที่เหนือกว่าชาติอื่น ๆ เป็นที่ยืนยันได้ดีถึงความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ มายาวนานไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ เพียงแต่ในช่วงสิบปีมานี้ สถิติการจดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีของจีนในระเบียนระดับโลกไล่ตามสหรัฐฯ มาติด ๆ จนปีล่าสุด แซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้วในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพ ยังคงต้องการเวลา
ชาติที่เคยยิ่งใหญ่ และภาคภูมิใจมายาวนาน เริ่มรู้สึกปริวิตกต่อความสามารถของจีน ในขณะที่เริ่มพบข้อจำกัดของตนเอง ทำให้เกิดเป็นความพยายามที่จะขัดขวาง หรือสร้างสิ่งกีดขวางเพื่อไม่ให้จีนก้าวรุดหน้าแซงไปได้ ไม่ใช่ผิดปกติแต่อย่างใด
ตัวอย่างที่ผ่านมาของการห้ามจีนซื้อกิจการพลังงานสหรัฐฯ และคำสั่งห้ามการขายเทคโนโลยีโทรคมนาคมทั้งทางตรง (ขายเทคโนโลยี) และทางอ้อม (เปิดทางให้จีนเข้าเทกโอเวอร์กิจการ) เป็นมาตรการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ที่เชื่อว่าน่าจะมีผลบ้าง
บังเอิญจีนยามนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว “วาระแห่งอนาคต” (ที่ถือว่าสำคัญเทียบเคียงกับนโยบายเดินหน้ารวมชาติกับไต้หวันในอนาคต) ที่ สี จิ้น ผิง ได้รับฉันทานุมัติจากสภาประชาชนจีนล่าสุด คือ การยกระดับให้จีนเป็นเจ้าเทคโนโลยีของโลก โดยใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โปร่งใส และกระจายประโยชน์ ทำให้เป้าหมายของยุคสมัยของ สี แตกต่างจาก เหมา เจ๋อ ตง และ เติ้ง เสี่ยว ผิง ชัดเจน
ความชัดเจนในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของจีน ทำให้สหรัฐฯ ถือว่าจีนเป็น “ศัตรูทางยุทธศาสตร์” (strategic rival) ทันที เพราะหากจีนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ สหรัฐฯ ก็จะหมดอิทธิพลลงทันทีทั้งทางทหาร และเศรษฐกิจ เกิดภาวะ “กระแสลมพัดกลับบูรพา” ระลอกใหม่ ทำนองเดียวกันกับ ปรากฏการณ์กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ขนาดของเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของยุโรปแซงหน้าจีนในช่วงที่เรียกกันว่า “การย้ายขั้วครั้งใหญ่” (the Great Convergence) นั่นเอง
เดิมพันที่มหาศาลดังกล่าว ปรากฏชัดในคำปราศรัยล่าสุดต้นปีนี้ของ สี จิ้น ผิง เรียกร้องให้บริษัท และนักคิดวิทยาศาสตร์จีน ทุ่มเทสรรพกำลังที่มุ่งมั่นกว่าเดิมในการยืนหยัดพึ่งตนเองสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี ด้วยการ “โยนทิ้งภาพลวงตา” จากการพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลจากภายนอก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นเจ้าโลกใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เชื่อกันว่า เป็นยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ (ไม่เฉพาะ โดนัลด์ ทรัมป์) รู้สึก “ขุ่นเคือง” มากที่สุด
พิมพ์เขียวของแผนยุทธศาสตร์ Made In China 2025 ระบุว่า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (ประกอบด้วย Robotics, new-energy vehicles, biotechnology, aerospace, high-end shipping, advanced rail equipment, electric power equipment, new materials (such as those used in screens and solar cells), and new generation information technology and software (integrated circuits and telecommunications devices), รวมทั้ง agricultural machinery) นั้น กระเทือนถึงบริษัทอเมริกันโดยตรงถึงรากฐาน
ที่ผ่านมา นักยุทธศาสตร์ระดับโลกหลายกลุ่มมองว่า ความพยายามขัดขวางเส้นทางจีนของสหรัฐฯ นอกจากจะไม่บรรลุเป้าแล้ว จะได้ผลมุมกลับ เกิดเป็นตัวเร่งเร้าให้จีนทุ่มเทมากขึ้นในการพึ่งพาตนเอง (คล้ายบทเรียนจากเมื่อครั้งจีนสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้เมื่อหลายทศวรรษก่อน จากอดีตนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ เชื้อสายจีนเอง) อาจจะเกิดเป็น “วัฏจักรชั่วร้าย” สำหรับอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เอง
หลายปีมานี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ และผู้นำธุรกิจทั่วโลกยอมรับว่า พัฒนาการในด้านเทคโนโลยีของจีนนั้นก้าวหน้าไม่แพ้ใครในหลายด้าน การที่จีนยังคงผลิตสินค้าตามคำสั่งหรือ “รับจ้างผลิต” หรือไม่ก็ผลิตเอง แต่ลอกเลียนแบบ (โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ นาฬิกา สินค้าแบรนด์เนมทุกยี่ห้อทุกรุ่น ฯลฯ) จนเกิดเป็นมายาภาพว่า ยากที่จะสามารถผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่เหนือกว่าสินค้าธรรมดาและด้วยวัตถุดิบราคาถูกเพื่อให้ได้สินค้าราคาถูกเพื่อให้ขายได้มาก ๆ
ความจริงแล้ว จีนเก่งกว่าที่คิดมาก เพราะหากเรียบเรียงรายการเท่าที่ประมวลได้จะพบว่า มากกว่า 25 รายการที่จีนได้พิสูจน์มาหลายปีแล้วว่าอยู่เหนือชาติอื่น ๆ
สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายยุทธศาสตร์นั้น ล่าสุดเดือนนี้ บทวิจัยของธนาคารซิตี้แบงก์แห่งนิวยอร์กยอมรับว่า มี 5 อุตสาหกรรม ที่จีนจะเป็นเจ้าเทคโนโลยีโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า และอีก 5 อุตสาหกรรม จีนสามารถใช้การอุดหนุนจากรัฐผสมแรงเสริมอื่นจากตลาดขนาดใหญ่ภายในประเทศ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกได้ ไม่ว่าอเมริกาจะขวางแค่ไหนก็ยาก
ประเด็นที่น่าสนใจคือ หากโดนัลด์ ทรัมป์ รุกคืบตามที่สื่ออย่าง วอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุ จีนจะตอบโต้อย่างไร เพราะหากจีนตอบโต้ผิด หรือวางเฉย ก็จะตอกย้ำว่า จีนยังไม่พร้อมต่อกร
ถ้าหากจีนมีไม้เด็ด โลกคงลุกเป็นไฟแน่นอน