ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน กับงูกินหาง

กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ วิจารณ์การเคลื่อนย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนของบริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ชื่อดังที่วางแผนย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางชิ้นไปต่างประเทศ สะท้อนความรู้เรื่องธุรกิจข้ามชาติของทำเนียบขาวในปัจจุบันสั้นกว่าหางเต่าหลายเท่า


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ วิจารณ์การเคลื่อนย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนของบริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ชื่อดังที่วางแผนย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางชิ้นไปต่างประเทศ สะท้อนความรู้เรื่องธุรกิจข้ามชาติของทำเนียบขาวในปัจจุบันสั้นกว่าหางเต่าหลายเท่า

กรณีนี้ ทำให้ตัดสินใจยากว่า การวิจารณ์ดังกล่าวเข้าข่าย Hoop Snake (ฮูปสเนค) หรือ Ouroboros (ออโรโบรอส) กันแน่

Hoop Snake เป็นสัตว์ในนิทานพื้นบ้านของชาวอเมริกัน มันเป็นงูที่อมปลายหางของตัวเองไว้ในปาก และเคลื่อนที่โดยการหมุนตัวบนพื้นดิน ฮูปสเนคสามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วจนไม่มีใครหนีพ้น วิธีเดียวที่จะหนีจากมัน ก็คือกระโดดลอดผ่านรูที่เกิดจากการอมปลายหางของมัน จะทำให้ฮูปสเนคสับสนและเคลื่อนที่ผ่านเราไปโดยย้อนกลับไม่ทัน

ส่วน Ouroboros ในทางไสยเวทย์ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอมตะและจักรวาล รวมเป็นหนึ่งในศิลปะของกรีกและอียิปต์ แสดงให้เห็นรูปของงูที่มีปลายหางของมันอยู่ในปาก ตัวของมันโค้งเป็นวงกลม บางครั้งก็โอบล้อมโลกด้วยการอมหางของมันไว้ในปากเช่นกัน ในภาษาลาติน มีความหมายตามตัวว่า “งูกินหาง” ซึ่งมีความหมายถึง “การก่อกำเนิด” หมายความว่า “การกำเนิดเกิดด้วยตัวเอง” หรือการเกิดโดยปราศจากผู้ให้กำเนิด หรือเทียบโดยนัยคือ บาป ที่กำเนิดจากวิธีที่ไม่ใช่ธรรมชาติเช่นนี้ด้วย

เรื่องมีอยู่ว่า ผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตรถจักรยานยนต์สัญชาติอเมริกัน ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน พบว่าการแข่งขันกับค่ายยุโรปอย่าง Ducati และ BMW มีปัญหาเรื่องต้นทุนและราคาเพราะค่าขนส่ง ภาษี และอัตราแลกเปลี่ยนสูงมากหากผลิตทั้งหมดจากโรงงานที่วิสคอนซิน ในสหรัฐฯ แล้วส่งทั้งคัน (CBU) ไปขายเหมือนเดิม จึงต้องการย้ายฐานผลิตไปต่างประเทศจากที่มีอยู่ เช่น  ออสเตรเลีย บราซิล อินเดีย และ ไทย เพิ่มขึ้นเพื่อขานรับการทำตลาดที่ยากลำบากกว่าเดิม

เรื่องนี้ ทำให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกโรงกล่าวหาบริษัท ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน ว่ากำลังทอดทิ้งสหรัฐฯ ด้วยการเตรียมย้ายฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ไปต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงภาระภาษีที่พุ่งสูงขึ้น หลังจากสหภาพยุโรป หรือ อียู เริ่มเก็บภาษีนำเข้ารถจักรยานยนต์ของบริษัท เพื่อตอบโต้มาตรการภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์

ทรัมป์ ทวีตว่า “ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน ไม่ควรผลิตในประเทศอื่นอย่างแน่นอน” และว่าหากฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน ย้ายฐานการผลิตจริง ๆ อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำของมอเตอร์ไซค์ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของคนอเมริกัน

ทรัมป์ กล่าวด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน ได้ประกาศว่าจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศไทย และเชื่อว่าเวลานี้ ฮาร์เล่ย์ เดวิดสัน กำลังใช้ข้ออ้างเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากกำแพงภาษีของสหภาพยุโรป เป็นทางออกในการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว

โดยข้อเท็จจริง สหภาพยุโรปเริ่มต้นมาตรการขึ้นภาษีในสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ทั้งกางเกงยีนส์ น้ำส้ม เหล้าเบอร์เบิน และรถจักรยานยนต์ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ก็รวมอยู่ในรายการเพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากสหภาพยุโรป

เรื่องนี้ ผู้บริหารของ ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน ออกมายอมรับว่า ภาษีนำเข้าของสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้นนั้น จะทำให้ต้นทุนของรถจักรยานยนต์ที่บริษัทส่งไปขายที่ยุโรป เพิ่มขึ้นคันละ 2,200 ดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ราว 45 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และอีกราว 100 ล้านดอลลาร์ต่อปีในอนาคต

ความจริงแล้ว การย้ายฐานผลิตของฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบริษัทอเมริกัน บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ไนกี้ ก็ไม่เคยมีฐานผลิตในสหรัฐอเมริกาเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่ค่ายรถยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากก็มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนหรือโรงงานประกอบในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 20-30 ด้วยซ้ำ ภายใต้กลยุทธ์ “Global Brand, Local Contents” ที่คุ้นเคยกันดี

คำถามที่ผู้บริหารของฮาร์เล่ย์-เดวิดสันจะต้องพิจารณา จึงไม่ใช่เรื่องคำวิจารณ์ของทรัมป์ แต่อยู่ที่ว่าจะสามารถรักษามาตรฐานของแบรนด์ที่เป็น “American Brand, Local Contents” เพื่อความอยู่รอดได้อย่างไร

หากฮาร์เล่ย์-เดวิดสันทำได้ ก็ตอกย้ำว่า นโยบายสงครามการค้าของทรัมป์เองนั่นแหละที่กลายเป็นตัวเร่งหรือ acccerelators ชั้นเยี่ยมในการขับไสให้เกิดการย้ายฐานผลิตออกจากสหรัฐอเมริกาเร็วขึ้น เพื่อสู้กับกำแพงภาษีที่ชาติต่าง ๆ ตั้งขึ้นมาอย่างไร้กติกา ตามรอยโดนัลด์ ทรัมป์ และสายเหยี่ยวรอบตัว

ส่วนใครจะคิดว่าฮาร์เล่ย์-เดวิดสันตบหน้าทรัมป์และพวก ก็คงคิดกันได้ แต่ถูกต้องหรือไม่ ต้องรอผลในอนาคต ที่จะพิสูจน์ว่า แผนเปิดสงครามการค้าของสหรัฐฯ ยุคทรัมป์ เป็นงูกินหางแบบ Hoop Snake หรือ Ouroboros

Back to top button