ค้ามนุษย์ สิทธิมนุษย์

รัฐบาลทหารที่ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับสามารถปราบปรามการค้ามนุษย์ จนสหรัฐฯ จัดอันดับไทยดีขึ้น ๆ มาอยู่ที่เทียร์ 2 แบบไม่ต้องจับตามอง ช่างเป็นผลงานย้อนแย้งเสียนี่กระไร


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

รัฐบาลทหารที่ถูกวิจารณ์ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน กลับสามารถปราบปรามการค้ามนุษย์ จนสหรัฐฯ จัดอันดับไทยดีขึ้น ๆ มาอยู่ที่เทียร์ 2 แบบไม่ต้องจับตามอง ช่างเป็นผลงานย้อนแย้งเสียนี่กระไร

ประเทศไทยถูกลดชั้นเป็นเทียร์ 3 ในปี 2557 รัฐบาลถือเป็นเรื่องใหญ่ ประกาศวาระแห่งชาติต้องแก้ไข คู่กับปัญหาประมงผิดกฎหมาย ที่อียูแจกใบเหลืองในปี 2558 มีการกวาดล้างจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งโรฮีนจา ประมงพม่า มาจนค้าประเวณี ออกมาตรการและกฎหมายใหม่หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ ตั้งศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ แก้ไข พ.ร.บ.ประมง ออก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

4 ปีผ่านไปจึงเห็นผล สหรัฐฯ เลื่อนอันดับเป็นเทียร์ 2 ที่ยังจับตามองในปี 2559 แล้วขยับขึ้นเป็นเทียร์ 2 ในปีนี้ ที่รัฐบาลคุยได้อย่างภาคภูมิใจ

แต่อันที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจ รัฐบาลทหารถนัดอยู่แล้วเรื่องการจัดระเบียบสังคม เหมือนจัดระเบียบรถตู้ มอเตอร์ไซค์ หาบแร่แผงลอย ทวงคืนผืนป่า

กล่าวได้ว่าเป็นงานถนัดอยู่แล้วของรัฐบาลที่มีอำนาจพิเศษ มี สนช.แต่งตั้ง ผลิตกฎหมายทันใจ ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง คงไม่ง่ายอย่างนี้ เพราะอย่างจัดระเบียบเรือประมง ก็โดนประท้วงหลายครั้ง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ก็เกือบทำ SME ฉิบหาย ดีที่มี ม.44 ยับยั้งกฎหมายตัวเองได้

ในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ประมง แรงงานต่างด้าว หรือค้าประเวณี เราได้เห็นการใช้อำนาจจัดการคนผิดอย่างเฉียบขาดไม่ไว้หน้าใคร สะใจสาธารณชน เช่น จับขบวนการค้าโรฮีนจา มีทั้งนายทหารยศพลโท ที่นายกฯ ด่า “ไอ้มนัส” มีอดีตนายก อบจ. อดีตนายกเทศมนตรี ศาลตัดสินจำคุกสูงสุด 78 ปี คดีค้าแรงงานประมงพม่า จำคุกนายกสมาคมประมงจังหวัด 6 ปี คดีอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท แม้เพิ่งส่งศาล ก็ถูก ปปง.อายัดทรัพย์ 463 ล้าน

เป็นการเชือดไก่ให้ดูว่า อย่าคิดทำอีก คนไทยผู้รักสิทธิมนุษยชนก็ดีอกดีใจ ไม่มีใครขนโรฮีนจามาออกลูกออกหลานบ้านเราอีก (แบบอุยกูร์ก็ส่งกลับแล้วไง)

ถ้าสังเกตให้ดี การแก้ปัญหาที่ดูเหมือนได้ผลของรัฐบาล มักมาในสูตรเดียวกัน คือเพิ่มอำนาจกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ เพิ่มระเบียบข้อบังคับ เพิ่มโทษ เพิ่มอำนาจบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่นการออก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 เพิ่มอำนาจศาลผ่านการใช้ระบบไต่สวน เหมือนคดีอาญานักการเมืองหรือคดีทุจริต ถ้าศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าผิด จำเลยฎีกาได้ยาก แต่หากอัยการสูงสุดฎีกา ศาลต้องรับ

มาตรการเหล่านี้อยู่บนข้อสันนิษฐานว่า ผู้ถูกกล่าวหามันชั่วมันเลว ไม่ว่าพวกค้ามนุษย์ ค้าประเวณี เลยเถิดมาถึงพวกเรือประมง หรือพวกใช้แรงงานต่างด้าว ผลด้านกลับเราจึงเห็น SME เดือดร้อนวุ่นวายเพราะ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว หรือเรือประมงประท้วง เพราะออกคำสั่งให้ต้องเก็บสลิปที่ลูกจ้างถอนเงินมาถ่ายเอกสาร ส่งศูนย์แจ้งเข้าออกหรือปีโป้ กรมเจ้าท่าก็บังคับให้ต้องซื้ออุปกรณ์จากร้านค้าที่กรมรับรอง ซึ่งแพงกว่าร้านค้าทั่วไป

พูดง่าย ๆ ว่าในขณะที่สังคมเชื่อเครดิตรัฐบาล ก็มีการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ภายใต้ความเชื่อว่าศาลศักดิ์สิทธิ์ อัยการเที่ยงธรรม ตำรวจ ทหาร แรงงาน ประมง เจ้าท่า ฯลฯ คือข้าราชการข้าของแผ่นดิน ไม่มีใครรับส่วย ไม่มีใครฉวยโอกาสเพิ่มส่วยเพื่อละเว้น

รัฐบาลอวดผลงานปราบปรามการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ ก็เป็นดาบสองคมที่น่ากลัว ทั้งง่ายต่อทุจริตและละเมิดสิทธิ ขณะที่สังคมไทยคิดว่า “ไม่ได้ทำผิดแล้วกลัวอะไร”

Back to top button