KCE พุ่งเกือบ 6% นิวไฮในรอบ 5 เดือน คาด Q2/61 กำไรฟื้น รับผลดีทองแดง-เงินบาทอ่อน
KCE พุ่งเกือบ 6% นิวไฮในรอบ 5 เดือน คาด Q2/61 กำไรฟื้น รับผลดีทองแดง-เงินบาทอ่อน โดย ณ เวลา 15.50 น. อยู่ที่ระดับ 40.25 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หรือ 5.92% สูงสุดที่ระดับ 40.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 37.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 629.74 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ณ เวลา 15.50 น. อยู่ที่ระดับ 40.25 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หรือ 5.92% สูงสุดที่ระดับ 40.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 37.50 บาท มูลค่าการซื้อขาย 629.74 ล้านบาท
ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 40.38 บาท เมื่อวันที่ 24 ม.ค.61
ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ (27 มิ.ย.) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 45 บาท/หุ้น โดยคาดกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2/61 และจะดีต่อเนื่องไปในปี 2562 ซึ่ง KCE ผ่านกำไรต่ำสุดปีนี้แล้วในไตรมาส 1/61 คาดเห็นการฟื้นตัวของกำไรในไตรมาส 2/61 จากราคาทองแดงที่เริ่มอ่อนตัวลง, ค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่า และคลี่คลายปัญหาคอขวดสายการผลิตแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นเพียงบริษัทเดียวที่ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ และคาดกำไรจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปี 61 อย่างชัดเจน จากคำสั่งซื้อที่ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง และยังเป็นช่วง High Season ของการส่งออก
อีกทั้งมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านตร.ฟุตต่อเดือน จากสิ้นไตรมาส 2/61 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5 ล้านตร.ฟุตต่อเดือน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านตร.ฟุตต่อเดือนในปีหน้า ซึ่งเราเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะกระบวนการผลิตที่จะกลับมาราบรื่นอีกครั้ง
ส่วนราคาทองแดง มองว่ายังคงอยู่ในระดับสูง เพราะปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจำกัด ยังไม่สามารถครอบคลุมความต้องการที่สูงขึ้นได้ แต่ไม่กระทบต่อการแข่งขันของบริษัท เพราะผู้ผลิต PCB ทุกรายต้องเผชิญกับต้นทุนทองแดงในราคาที่ใกล้เคียงกัน คาดกำไรสุทธิปี 2561 โต 8% จากปีก่อน และคาดจะโตมากขึ้นเป็น 13.5% จากปีก่อน ในปี 2562 ทั้งนี้เราปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2562 เป็น 45 บาท (อิง PE เดิม 17 เท่า) เพื่อสะท้อนการฟื้นตัวชัดเจนในครึ่งหลังปี 61 ต่อเนื่องไปในปี 2562 มี Upside 20% ปรับคำแนะนำขึ้นเป็น ซื้อ จากเดิม ถือ
สำหรับแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/62 น่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ภายหลังสถานการณ์ต่างๆเริ่มกลับมาดีขึ้นและช่วยหนุนผลประกอบการของบริษัท เริ่มตั้งแต่ราคาทองแดงล่าสุดปรับลงมาอยู่ที่ US$6,755 ต่อตัน (-6% YTD) และค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าลงอยู่ที่ราว 32.8-33 บาทต่อ USD เทียบกับตอนต้นปีที่แข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ราว 31 บาทต่อ USD กอปรกับปัจจุบันบริษัทสามารถขจัดปัญหาคอขวดสายการผลิต สำหรับกลุ่มสินค้ามาร์จิ้นดีอย่าง HDI ด้วยการนำเข้าเครื่องจักรมาครบแล้วในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
โดยคาดเห็นกระบวนการผลิตราบรื่นขึ้น และอัตราของเสียของสินค้าใหม่ลดลง น่าจะช่วยหนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นกลับมาฟื้นตัวแตะระดับ 30% ได้อีกครั้ง เบื้องต้นเราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/61 จะอยู่ที่ราว 620-650 ล้านบาท จากที่ทำได้ 517 ล้านบาทในไตรมาส 1/61 นอกจากนี้ถือเป็นเพียงบริษัทเดียวในกลุ่มฯที่ไม่ได้เผชิญกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ
อย่างไรกน็ตาม จากการแก้ปัญหาคอขวดสายการผลิตที่แล้วเสร็จในไตรมาส 2/61 จะทำให้ใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่และเต็มไตรมาสตั้งแต่ไตรมาส 3/61 เป็นต้นไป กอปรกับกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 1.7 ล้านตร.ฟุตต่อเดือน จากสิ้นไตรมาส 2/61 ที่คาดอยู่ที่ 1.5 ล้านตร.ฟุตต่อเดือน
โดยจากการเพิ่มเครื่องจักรใหม่ น่าจะทำให้บริษัทสามารถรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามามากตามปกติในช่วง High Season และคาดว่าอาจจะมีคำสั่งซื้อบางส่วนที่ลูกค้าโยกมาจากคู่แข่ง Chin Poon Industrial ที่ประสบเหตุไฟไหม้โรงงานในไต้หวัน จะช่วยหนุนการฟื้นตัวทั้งในแง่ของรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นให้สูงขึ้นต่อเนื่องได้ในช่วงครึ่งหลังปี 61 ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ไว้ที่ 2,746 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน)
สำหรับปีหน้า มองว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะที่เอื้อต่อการทำธุรกิจของบริษัท ทั้งแนวโน้มค่าเงินบาทที่น่าจะผันผวนน้อยลง และน่าจะค่อนไปในทางทรงถึงอ่อนค่าลงได้อีก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อการแข่งขัน และดีต่อการเจรจาเรื่องราคากับลูกค้าในช่วงปลายปีได้ ในส่วนของราคาทองแดง แม้ช่วงนี้จะมีการอ่อนตัวลงมาให้เห็นบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะถัดไป น่าจะทรงตัวถึงปรับขึ้น ไม่น่าจะลดลงกลับไปที่ราคาต่ำเหมือนในอดีต เพราะความต้องการใช้ทองแดงสูงขึ้นต่อเนื่อง ใขณะที่ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
รวมถึงการปรับขึ้นตามราคาน้ำมันดิบอีกทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนัก ตราบใดที่ค่าเงินบาทไม่กลับไปแข็งค่ามากๆอีก เนื่องจากผู้ผลิต PCB ทุกรายต่างต้องเผชิญกับต้นทุนทองแดงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน มีเพียงความต่างของค่าเงินที่จำทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องการแข่งขันด้านราคา กอปรบริษัทอยู่ระหว่างเพิ่มกำลังการผลิตใหม่เป็น 2 ล้านตร.ฟุตต่อเดือน (เพิ่มขึ้น 17.6% จากปีก่อน) คาดกำไรสุทธิปี 2562 จะเติบโตได้มากขึ้น 13.5% จากปีก่อน เป็น 3,117 ล้านบาท กลับไปทำจุดสูงสุดใหม่ใกล้เคียงกับที่เคยทำได้ในปี 2559 อีกครั้ง