พาราสาวะถี
วันนี้ทั้งก่อนและหลังการประชุมครม. เราคงได้เห็นท่วงทำนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึงขังต่อคำถามของนักข่าวเรื่องกลุ่มสามมิตรและพลังดูด แต่สุดท้ายคงหนีไม่พ้นการเล่นบทไขสือหรือไม่ก็ตีหน้ายักษ์ขู่ แต่อย่าลืมว่าทุกคำพูดของทุกคนในเวลานี้ มันจะเป็นหลักฐานพิสูจน์ความเป็นจริงในอนาคตอันใกล้ว่า ใครโกหกประชาชน
อรชุน
วันนี้ทั้งก่อนและหลังการประชุมครม. เราคงได้เห็นท่วงทำนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึงขังต่อคำถามของนักข่าวเรื่องกลุ่มสามมิตรและพลังดูด แต่สุดท้ายคงหนีไม่พ้นการเล่นบทไขสือหรือไม่ก็ตีหน้ายักษ์ขู่ แต่อย่าลืมว่าทุกคำพูดของทุกคนในเวลานี้ มันจะเป็นหลักฐานพิสูจน์ความเป็นจริงในอนาคตอันใกล้ว่า ใครโกหกประชาชน
เมื่อพิจารณาจากกระบวนการที่ทำซึ่งไม่ต่างจากนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวที่ตัวเองด่ามาตลอดกว่า 4 ปี ทั้งแนวคิดและพฤติกรรมที่ปรากฏเป็นข่าว วันข้างหน้าถ้าจะถามหาความรับผิดชอบหรือไปบอกว่าคนเหล่านี้เป็นพวกที่หลอกลวงประชาชน ก็จะได้รับคำตอบแบบนักการเมืองว่า ไม่เคยพูดหรือไม่เคยทำ แต่ทั้งหมดเพื่อประเทศชาติแล้วมันปฏิเสธไม่ได้
ต้องเข้าใจ ถึงจะมีการเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างดำเนินไปในบริบทที่ถูกควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษและมาตรายาวิเศษก็ยังอยู่ครบครัน ดังนั้น หากมีอะไรที่ไม่ถูกใจหรือทำให้หัวหน้าเผด็จการไม่พอใจ ย่อมสามารถยกเลิกและใช้อำนาจที่ตัวเองมี จัดการทุกอย่างให้เป็นไปตามที่ตัวเองปรารถนาได้ นี่คือสิ่งที่เผด็จการยุคก่อนหน้าไม่เคยใช้ไม่เคยมี
เห็นลีลาของสองรองนายกฯ ที่มีชื่อเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับกลุ่มสามมิตรแล้ว ต้องบอกว่า “เหลือรับประทาน” จริง ๆ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ตะคอกขู่นักข่าว “ถามคำถามไม่เป็นกลาง” ก่อนที่จะเล่นบทปฏิเสธยัน ทั้งการอ้างไม่รู้จัก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นการส่วนตัว ไม่เคยเจอสุริยะ และยืนยันว่าไม่ได้ลำเอียง พร้อมกับอ้างว่าพรรคเพื่อไทยก็มีการเคลื่อนไหวด้วยการไปตีกอล์ฟ เหตุใดสื่อจึงไม่โจมตีพรรคดังกล่าวบ้าง
ก่อนที่จะเฉไฉต่อว่ากลุ่มสามมิตรไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐที่ตามข่าวว่าการดูดของสามมิตรก็เพื่อพรรคการเมืองนี้ก็ยังไม่ได้จดทะเบียนตั้งพรรค เมื่อเป็นเช่นนั้นก็หมายความว่าสิ่งที่ทำกันไปไม่ใช่เรื่องทางการเมือง ไม่ได้หวังผลทางการเมือง บทจะออกอาการไร้เดียงสาก็เล่นกันแบบดื้อ ๆ อย่างนี้ แต่เนียนตาหรือไม่ต้องถามประชาชน
ขณะที่ทางฝั่งของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ “ทำเป็นงง” อ้างไม่รู้ข่าวคราวที่ฝ่ายสามมิตรระบุดีลการเมืองผ่านตัวเอง ด้วยการบอกว่าเพิ่งกลับจากต่างประเทศมาเลยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ประเทศไทย ใช้มุกแบบนี้ไปหลอกเด็กอมมือเด็กยังไม่เชื่อเลย ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราในยามที่มีอำนาจโดยเฉพาะกับอำนาจที่ไม่น่าจะภูมิใจ ถึงได้มืดบอดทางด้านความคิดในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยและนักวิชาการที่ปราดเปรื่องเช่นนี้
แต่พอจะเข้าใจได้ ตามที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ช่วยอธิบายให้เห็นภาพ การดูดนักการเมืองโดยใช้เงื่อนไขคดีความต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ตรงกันข้ามกับข้ออ้างของคสช.ในการเข้ามายึดอำนาจและอยู่ในอำนาจ สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ชอบพูดถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองในทางที่เสียหายว่า เป็นที่รวมของคนไม่มีความคิด ไม่มีอุดมการณ์ สร้างความเสียหายให้ประเทศ เป็นที่ที่มีคนเข้ามาลงทุนแล้วถอนทุน และบอกให้ประชาชนรู้จักเลือกคนใหม่อย่าเลือกคนเก่า
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนหัวหน้าคสช.ก็คือสิ่งที่พลเอกประยุทธ์เคยประณามหยามเหยียดนักการเมืองไว้ เท่ากับว่าคสช.ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ และปกครองประเทศตามแนวความคิดตัวเองออกไปให้นานที่สุด ไม่คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่การออกกติกา ต่อมาก็ออกคำสั่งที่มุ่งทำลายพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม แล้วสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุนตน พร้อมใช้อำนาจของตนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
สิ่งนี้ที่พลเอกประยุทธ์มอบให้ประเทศชาติและประชาชน ทำให้เห็นว่าที่ทำกันมา 4 ปีนั้นไม่มีอะไรที่เป็นไปตามกล่าวอ้าง แถมจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากในอนาคตด้วย รวมถึงเป็นการทำการเมืองแบบล้าหลังมาก และยังใช้กลไกต่าง ๆ ที่ฉ้อฉล ไม่เป็นธรรม และเป็นระบบที่ได้มีการก้าวก่ายแทรกแซงจนไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่อ้าง
กระบวนการตรวจสอบการทุจริต ความเป็นอิสระขององค์กรอิสระ นำไปสู่ความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และนำไปสู่การปกครองที่ทุจริตฉ้อฉลได้โดยที่ประชาชนไม่มีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล นี่คือบทสรุปที่ คสช.มอบให้ประชาชนก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งสิ่งที่จาตุรนต์คิดและสะท้อนออกมาดัง ๆ เชื่อว่าตรงใจคนจำนวนไม่น้อย แต่ไม่มีใครกล้าพูด กล้าแสดงความเห็นเท่านั้น
นี่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน เพราะคนธรรมดาทั่วไปจะหาใครที่กล้าหาญนั้นคงลำบาก เพราะขนาดสถาบันอุดมศึกษาที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมปัญญาชนและผู้ที่จะชี้นำสังคมในทางที่ถูกต้องได้ พ.ศ.นี้ก็ยังมีการเลือกที่จะพูดหรือไม่พูดในสิ่งที่เห็นว่าตัวเองและสถาบันไม่ได้ประโยชน์ เหมือนอย่างที่มีเสียงสะท้อนจากนิสิตของบางสถาบัน
ที่พบว่านอกจากจะไม่มีความกล้าในการวิจารณ์แล้ว ก็ยังแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการสนับสนุนผู้นำเผด็จการคสช. และก่อนรัฐประหารก็สนับสนุนกลุ่มกปปส. อีกทั้งสิ่งที่ผู้บริหารสถาบันแห่งนี้อ้างก็คือ ต้องการงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล จึงมักสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเมืองของกลุ่มการเมืองอีกขั้วหนึ่งที่ไม่เป็นพิษภัยกับผู้บริหารและไม่ได้วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการ
อย่างไรก็ตาม ต้องชื่นชมนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งที่มีจุดยืนและวิพากษ์กระบวนการทำงานของรัฐบาลเผด็จการ เหมือนที่ อนุสรณ์ อุณโณ นักวิชาการในเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จากค่ายธรรมศาสตร์ ที่ยอมรับว่า มีขบวนการสั่งให้การจัดเวทีวิชาการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยต้องแจ้งสถานีตำรวจในพื้นที่ก่อนทุกครั้งเพื่อเสนอประเด็นที่จะคุยให้ผู้มีอำนาจอนุญาต
แต่อนุสรณ์บอกว่า ตนดื้อแพ่งและคิดว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการ ไม่แจ้งก่อน หากจะผิดก็ว่ากันไป แล้วก็ได้จัดมาตลอด นี่คือข้อดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เหมือนมีชนักติดหลังทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ที่ต้องมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ทำให้ยังสามารถจัดกิจกรรมเหล่านี้ในธรรมศาสตร์ได้ ฟังดูแล้วอาจจะดีถ้ามีวงเสวนาในลักษณะนี้กระจายตัวไปทั่วประเทศตามสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่ได้เลือกข้างไปแล้ว นี่ต่างหากคือปัญหาที่ผู้มีอำนาจต้องแก้ ทำอย่างไรไม่ให้พวกกุมอำนาจเลิกอ้างความขัดแย้งเพื่ออยู่ในอำนาจให้นานแสนนาน