คนกรุงโวย “รถไฟฟ้า” กระชากหนัก! “บีทีเอส” ขอเวลาปรับจูนระบบรับคลื่นความถี่ใหม่
คนกรุงโวย “รถไฟฟ้า” กระชากหนัก! “บีทีเอส” ขอเวลาปรับจูนคลื่นความถี่ให้เสถียรป้องกันปัญหาแทรกซ้อน
สืบเนื่องจากกรณีที่ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. – 27 มิ.ย.2561 รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) ในสายสุขุมวิท และสายสีลม เกิดเหตุขัดข้อง เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คลื่นสัญญานความถี่ 2400MHz ที่ใช้ควบคุมระบบรถไฟฟ้าถูกรบกวน
โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ต้องทำการย้ายการใช้งานคลื่นความถี่สื่อสารระบบอาณัติสัญญาณที่ 2480-2495 เมกะเฮิร์ซ (MHz) ซึ่งอยู่ช่วงปลายของคลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz จากที่บีทีเอสใช้งานอยู่ 2400-2495 MHz ให้ห่างออกไปจากคลื่น 2310-2370 MHz ที่ TOT ให้ DTAC ใช้มีอยู่ 3 slot จะได้ไม่ถูกรบกวนคลื่น ซึ่งได้ดำเนินการปรับย่านความถี่ใหม่ พร้อมติดตั้งตัวกรองสัญญาณเพิ่มเติมเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 30 มิถุนายน
อย่างไรก็ตาม วานนี้ (4 ก.ค.2561) เกิดเหตุรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องขึ้นอีกครั้งส่งผลให้มีผู้โดยสารตกค้างอยู่บนสถานีอย่างหนาแน่น โดยทวิตเตอร์ BTS Skytrain ได้ทวิตข้อความว่า รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีพร้อมพงษ์ กำลังทำการแก้ไขและจะทำการถ่ายผู้โดยสาร ทำให้ขบวนล่าช้า 10 นาที
ล่าสุด ในวันนี้ (5 ก.ค.2561) ผู้ใช้งานรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยข้อมูลกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า เช้าวันนี้ขบวนรถไฟฟ้าในสายสุขุมวิท และสายสีลม ขณะใช้บริการอยู่เกิดการกระตุก และกระชากอยู่หลายครั้ง
โดยทาง บีทีเอส ชี้แจงข้อมูลผ่านทางแฟนเพจ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ว่า หลังจากการเปลี่ยนช่องคลื่นความถี่แล้ว ขบวนรถอาจมีการกระตุก และกระชากได้ ซึ่งจะดำเนินการปรับจูนระบบในเสถียรในเร็วๆ นี้