PSL ขาขึ้นรอบใหม่

ดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) เพิ่มขึ้น 91 จุด อยู่ที่ระดับ 1,567 จุด เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเป็นผลบวกต่อความรู้สึกการลงทุนในหุ้นกลุ่มเดินเรือระยะสั้นนี้


คุณค่าบริษัท

ดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) เพิ่มขึ้น 91 จุด อยู่ที่ระดับ 1,567 จุด เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเป็นผลบวกต่อความรู้สึกการลงทุนในหุ้นกลุ่มเดินเรือระยะสั้นนี้

อานิสงส์ดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้น PSL หรือ บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) บวกตามขึ้นไปด้วย โดยวานนี้ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 11.90 บาท บวกไป 0.20 บาท หรือขึ้นไป 1.71% มูลค่าการซื้อขาย 36.65 ล้านบาท และหากย้อนดูราคาหุ้นจากที่มีการขยับเป็นวันที่ 3 แล้ว ขึ้นมา 10.19% เข้าไปแล้ว

ดังนั้นเชื่อว่าหากดัชนีค่าระวางเรือยังมีการปรับตัวขึ้นอีก และมีโอกาสส่งให้ราคาหุ้น PSL ปรับตัวขึ้นต่อได้อีกในระยะสั้น

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ดัชนีค่าระวางเรือของ PSL ในไตรมาส 2 ปี 2561 ยังคงเพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อน และจากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนี BHSI เพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 20.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีเรือกลุ่มนี้ 19 ลำ

ขณะที่ ดัชนี BASI เพิ่มขึ้น 12.0% จากไตรมาสก่อน และ เพิ่มขึ้น 32.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีเรือกลุ่มนี้ 9 ลำ โดยยังมีกลุ่มเรือขนาดใหญ่ Ultramax อีก 8 ลำ ซึ่งค่าระวางเรือจะสูงกว่าทั้ง 2 กลุ่ม

ทางนักวิเคราะห์จึงคาดว่าค่าระวางเรือในไตรมาส 2 ปี 2561 จะอยู่ที่ 11,920 ดอลลาร์ต่อวันต่อลำ เพิ่มขึ้น 8.7% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 29.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ คาดว่าค่าใช้จ่ายต่อวันต่อลำอยู่ที่ 4,500 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.4% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 4.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ทำให้คาดรายได้รวมที่ 1,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ต้นทุนคาดลดลงจากค่าเสื่อมและค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น และคาดกำไรสุทธิที่ 195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.1% จากไตรมาสก่อน และดีขึ้นมากจากไตรมาส 2 ปี 2560 ที่ขาดทุน 5 ล้านบาท

ส่วนระยะกลางมีมุมมองด้านอุปสงค์และอุปทาน เข้าสู่สมดุลขึ้นเป็นลำดับ สอดคล้องกับการประเมินของสำนักต่าง ๆ ที่คาดอุปทานเรือเทกอง เพิ่มขึ้นเพียงราว 1-2% ในปี 2561-2562 ขณะที่อุปสงค์เติบโตสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลกที่ราว 4%

ขณะที่ ระยะยาวปัจจัยด้านกฎเกณฑ์ ได้แก่ ข้อตกลงการจัดการน้ำถ่วงเรือ และเกณฑ์การจำกัดค่ากำมะถันในเชื้อเพลิง ที่จะบังคับใช้ในปี 2562-2563 จะกดดันให้เรืออายุมากปลดระวางเรือเร็วขึ้น

ส่วนการกีดกันการค้าเสรี (Protectionism) นำโดยสหรัฐฯ นั้น ประเมินว่ามีโอกาสน้อยที่จะนำไปสู่ส่งครามการค้า และหากเกิดสงครามการค้าจริง จะเป็นบวกต่ออุตสาหกรรมเรือเทกอง จากอุปสงค์ของสินค้าต่าง ๆ ที่ไม่ยืดหยุ่น กล่าวคือ หากไม่นำเข้าจากแหล่งเดิมก็จำเป็นต้องนำเข้าจากแหล่งอื่นทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระยะทางขนส่งไกลกว่าเดิม ซึ่งจะกดดันให้เรืออายุมากปลดระวางเรือเร็วขึ้น

ทั้งนี้ ทางนักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ยังคงคาดกำไรปี 2561 อยู่ที่ 666 ล้านบาท ราคาพื้นฐานที่ 13.50 บาท ปรับคำแนะนำเป็น “ซื้อ” จาก “ทยอยซื้อ”

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. บริษัท โกลเบ๊กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 442,857,535 หุ้น 28.40%
  2. MR.KHALID MOINUDDIN HASHIM 131,386,275 หุ้น 8.43%
  3. บริษัท เกรนเทรด จำกัด 130,086,266 หุ้น 8.34%
  4. MISSNISHITA SHAH 108,054,537 หุ้น 6.93%
  5. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 71,466,006 หุ้น 4.58%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายธีระ วิภูชนิน ประธานคณะกรรมการบริษัท
  2. นายธีระ วิภูชนิน กรรมการอิสระ
  3. นายคาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม กรรมการผู้จัดการ
  4. นายไจปาล มันสุขานี กรรมการ
  5. นายคูชรู คาลี วาเดีย กรรมการ

Back to top button