ทรัมป์ กับ หนี้จีน

นักกลยุทธ์ในวอลล์สตรีท ให้ความเห็นเชิงลึกวิเคราะห์กลยุทธ์สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ล่าสุดน่าสนใจ โดยวิเคราะห์จากรายชื่อกลุ่มสินค้าในบัญชีรายชื่อที่จะหยิบยกมาเล่นงานกันและกัน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

นักกลยุทธ์ในวอลล์สตรีท ให้ความเห็นเชิงลึกวิเคราะห์กลยุทธ์สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ล่าสุดน่าสนใจ โดยวิเคราะห์จากรายชื่อกลุ่มสินค้าในบัญชีรายชื่อที่จะหยิบยกมาเล่นงานกันและกัน

ฝั่งสหรัฐฯ เน้นรายการสินค้าจีนที่มุ่งไปทำให้รัฐวิสาหกิจจีนเป็นผู้ผลิตใหญ่ เพื่อ “เจาะยาง” เพราะจะทำให้กับดักหนี้ที่มากกว่า 2 เท่าของจีดีพี เกิดอาการปั่นป่วน และซวนเซ จนกระทั่งมีต้นทุนสูง ลดความสามารถในการส่งออกมาตีตลาดสหรัฐฯ

ฝั่งจีน ก็เน้นรายการสินค้าที่ผลิตจากแหล่งที่เป็นฐานคะแนนเสียงหลักของโดนัลด์ ทรัมป์เพื่อให้คนที่สนับสนุนทรัมป์ตระหนักดีว่า พวกเขาสนับสนุนคนผิดเป็นผู้นำประเทศ

สำหรับกลยุทธ์สหรัฐฯ เรื่องหนี้ท่วมประเทศของจีน น่าสนใจไม่น้อย

3 ปีมานี้ ปัญหาเรื่องหนี้ในระบบ (ไม่รวมที่ไม่ได้บันทึกเป็นทางการ) ของจีน ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้บริษัท และหนี้สาธารณะ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนและนักวิเคราะห์ถือว่าเป็นระเบิดเวลาซึ่งจะทำให้จีนต้องเจอภาวะ ฮาร์ด แลนดิ้ง

แม้ว่า คำพยากรณ์หรือคาดเดาเกี่ยวกับวิกฤติหนี้จีน จะยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิด และมีคำถามย้อนกลับว่า 1) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และ 2) ตัวเลขของใครน่าเชื่อถือได้กว่ากัน

ตัวเลขทางการของจีน ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ BIS ยืนยันว่ามียอดน่ากลัวจริง ที่ระดับประมาณ 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ มากกว่า 230% ของจีดีพี อัตราส่วนดังกล่าวเกินมาตรฐานของประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ เป็นอย่างมาก แม้จะไม่เกินมาตรฐานของชาติ G-7 ซึ่งถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดวิกฤติการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง

นักเศรษฐศาสตร์และสถาบันการเงินทุกแห่ง ที่เชื่อว่าเชี่ยวชาญเรื่องบริหารหนี้ ออกเสียงเตือนว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนที่เน้นอาศัยการกู้ยืมเงินอย่างมหาศาลโดยรัฐวิสาหกิจของจีนที่ไร้ประสิทธิภาพ มาจุนเจือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ยอดหนี้สุทธิของประเทศพุ่งขึ้นไปในระดับอันตรายทุกขณะ แม้ว่าหนี้ที่เกิดขึ้นจะเป็นการกู้ยืมในประเทศเป็นหลัก

แม้ขนาดของภาระหนี้สุทธิของจีนจะเยอะมาก แต่ยังไม่น่าห่วงเท่ากับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของตัวเลขการก่อหนี้ของจีน เพราะเมื่อปี 2007 ยอดภาระหนี้ของจีนเคยมีอยู่เพียง 148% ของ GDP เท่านั้น

หลายเดือนก่อน กลุ่มผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ข้ามชาติเคยประเมินว่า ภาระหนี้ของจีนที่จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่กว่า วิกฤติของวอลล์สตรีท ถึง 4 เท่าตัว เพราะคาดว่าจะมียอดหนี้เน่ามากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 18 ล้านล้านหยวน

ตัวเลขของแบงก์ชาติจีน มูลค่าหนี้ทั้งระบบที่เป็นทางการของสถาบันการเงินจีนล่าสุด อยู่ที่ระดับ 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 122 ล้านล้านหยวน ใหญ่กว่ายอดหนี้รวมของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ถึง 2 เท่าตัว ในช่วงเศรษฐกิจยังเป็นขาขึ้น สัดส่วนของหนี้ที่เกิดจากการฉ้อฉลของระบบสถาบันการเงิน และผู้บริหารกิจการอาจจะไม่ปรากฏชัดเจน แต่ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัวปัญหา “น้ำลดตอผุด” ทยอยกันโผล่ขึ้นมาโดดเด่น

คณะกรรมการกำกับดูแลภาคธนาคารจีน (CBRC) ที่เป็นอิสระจากแบงก์ชาติจีน มีตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่ว่า ภาคธนาคารของจีนยังแข็งแกร่ง ไม่น่าห่วง เพราะมีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.67% ของสินเชื่อทั้งระบบในปี 2558 คิดเป็นมูลค่า 1.27 ล้านล้านหยวน (1.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีสัดส่วนหนี้เสีย 1.64% เท่านั้น และล่าสุดก็ยังต่ำกว่า 2%

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขเพิ่มเติมว่า ภาคธนาคารพาณิชย์จีนทั้งระบบยังทำกำไรต่อเนื่องไม่มีสะดุด สามารถมีกำไรสุทธิรวมกัน 1.59 ล้านล้านหยวนในปี 2558 เพิ่มขึ้น 3 หมื่นล้านหยวนเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

แม้ตัวเลขของทางการจีนอย่าง CBRC ไม่อาจเชื่อถือได้ทั้งหมด และมีประเด็นให้ตั้งข้อกังขาตามมาก็จริง แต่หากประเมินจากตัวเลข จะเห็นว่า หากเป็นจริง เท่ากับไม่มีปัญหาอะไรเลยสำหรับระบบธนาคารพาณิชย์จีน เพราะเคยมีการศึกษาโดยละเอียดของทั้งนักกลยุทธ์ตะวันตก และนักเศรษฐศาสตร์ในจีนเอง ที่ระบุตรงกันหรือใกล้เคียงมากว่า ตราบใดที่หนี้เน่าของระบบธนาคารสูงไม่เกินกว่าปีละ 10 ล้านล้านหยวน หรือ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ไม่ถือว่าเศรษฐกิจจีนเข้าเขตพื้นที่อันตราย

ไม่เพียงเท่านั้น หากตัวเลขหนี้เน่าในระบบธนาคารจีน มีไม่เกินกว่า 8 ล้านล้านหยวน หรือ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  สภาพคล่องและเงินกองทุนของธนาคารจีนจะสามารถแบกรับไว้ได้ โดยไม่ต้องกระทบกระเทือนให้รัฐต้องเอาทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเข้ามาโอบอุ้มช่วยเหลือแต่อย่างใด

แม้จนถึงวันนี้ หน่วยงานรัฐจีน ยังไม่สามารถหาคำตอบสำหรับโจทย์ว่าด้วยการแก้ปัญหาที่ดีกว่ามาตรการเก่า ๆ ที่เคยงัดมาใช้อย่างลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นการ “ปะผุ” มากกว่าแก้อย่างถึงรากฐาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นระเบิดเวลาอันรุนแรงถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจจีนพังทลายภายในไม่กี่วัน

นักวิเคราะห์ของ มอร์แกน สแตนเลย์ (เจ้าของดัชนี MSCI) ซึ่งชำนาญเส้นทางของกลไกตลาดทุนและตลาดเงินในตลาดเกิดใหม่มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ระบุว่า แรงกดดันเรื่องภาระหนี้ในสัดส่วนของเศรษฐกิจมวลรวมของจีน ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการชะงักงัน ถ้าหากทางการจีนยังคงมุ่งมั่นกับเส้นทางบริหารระบบเศรษฐกิจด้วยมาตรการใหม่ 3 ประเด็น คือ 1) เปลี่ยนโครงสร้างจากการพึ่งพาการผลิตอุตสาหกรรมพื้นฐานและส่งออก ไปเป็นการบริโภคภายใน และอุตสาหกรรมใหม่ที่ยกระดับคุณภาพการผลิตมากกว่าพึ่งพาแรงงานราคาถูก 2) ใช้นโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทานหรือ supply-sided economy ภายใต้หลักการใช้อุปทานสร้างอุปสงค์ 3) ทำให้ค่าหยวนซึ่งลอยตัวตามสภาพเป็นจริงมากขึ้นในฐานะเงินสากล

การพุ่งเป้าของสหรัฐฯ เพื่อ “เจาะยาง” ให้ปัญหาหนี้ของจีนรุนแรงขึ้นจึงเป็นปริศนา ว่า ตรงเป้าที่ต้องการหรือไม่ หรือเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด

คำตอบสำหรับโจทย์นี้ ยังไม่เกิดผลในระยะอันสั้น

Back to top button