ระเบิดเวลาที่ลอนดอน
แล้วลางร้ายของรัฐบาลผสมอังกฤษของนางเธเรซา เมย์ ก็เกิดขึ้น เมื่อจำต้องปรับรัฐมนตรีใหม่หลายกระทรวง หลังเกิดวิกฤติขัดแย้งกันในเรื่องเบร็กซิต โดยเฉพาะนายบอริส จอห์นสัน ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ร่ายจดหมายยาวตำหนินายกรัฐมนตรีเมย์ ว่าเบร็กซิตแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ราวกับอียูเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
แล้วลางร้ายของรัฐบาลผสมอังกฤษของนางเธเรซา เมย์ ก็เกิดขึ้น เมื่อจำต้องปรับรัฐมนตรีใหม่หลายกระทรวง หลังเกิดวิกฤติขัดแย้งกันในเรื่องเบร็กซิต โดยเฉพาะนายบอริส จอห์นสัน ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ร่ายจดหมายยาวตำหนินายกรัฐมนตรีเมย์ ว่าเบร็กซิตแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ราวกับอียูเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ
ตามขั้นตอนแล้วสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป หรือ อียู ในทางกฎหมาย ตามกำหนด วันที่ 29 มีนาคม 2562 แต่ขณะนี้สองฝ่ายคือสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรนำโดยอังกฤษ ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะทำการค้าขายกันอย่างไรหลังจากนั้น ซึ่งสมาชิกในพรรคอนุรักษนิยม แกนนำรัฐบาลยังมีความเห็นขัดแย้งกัน จนเป็นที่มาของวิกฤติวงแตกในครั้งนี้ นายกฯ เมย์ ปรับครม.ใหม่ หลังรัฐบาลอังกฤษวงแตก ขัดแย้งแผนแยกจากอียู
แกนนำของพวกต่อต้านสหภาพยุโรปสุดขั้วอย่างนายจอห์นสันยื่นหนังสือลาออก ต่อเนื่องจากนายเดวิด ดาวิส รมว.กิจการเบร็กซิต ผู้รับผิดชอบการเจรจาถอนตัวของสหราชอาณาจักร พร้อมรัฐมนตรีช่วยอีก 2 คน ที่พากันลาออกหลังครม. ลงมติเห็นชอบกับแผนหารือการค้าเสรีระหว่างยูเคกับอียู เพราะต่างไม่พอใจที่ยูเคยังผูกติดกับอียูอย่างใกล้ชิด
ในการปรับ ครม. นายกฯ เมย์ แต่งตั้งนายเจเรมี ฮันต์ ที่โยกจากกระทรวงสาธารณสุข มาดำรงตำแหน่งแทนนายจอห์นสัน และให้นายแมตต์ ฮันค็อก โยกจากกระทรวงวัฒนธรรมไปคุมกระทรวงสาธารณสุขแทน ส่วนคนที่มาแทนนายดาวิส ในกระทรวงกิจการเบร็กซิตคือนายโดมินิก ราบฟา
ประเด็นหลักของรัฐบาลอังกฤษคือ การจัดการความสัมพันธ์ในอนาคตที่อังกฤษจะต้องหาทางหลบเลี่ยงจากคำเตือนเก่าแก่เมื่อหลายปีก่อนว่า อังกฤษอาจจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจหลังจากการลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT โดยคาดว่าจะเริ่มต้นภายในต้นปีหน้า พร้อมกับหั่นตัวเลข GDP อังกฤษลงถึง 2.75% ในปีหน้า
รวมทั้งยังมีการคาดเดาว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน โดยคาดว่า GDP ของกลุ่มยูโรโซนในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 1.25% และสหรัฐฯ จะมี GDP ในช่วงครึ่งหลังของปี 2016 อยู่ที่ 2% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.5%
ต้นปีนี้ โกลด์แมน แซคส์ ชี้ว่า จุดเสี่ยง 3 ประการที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1) การค้าระหว่างประเทศที่คาดว่าจะเสื่อมถอยลง 2) การลงทุนลดลงเพราะบริษัทส่วนใหญ่จะลดการลงทุนจากความไม่แน่นอน 3) ปัจจัยการผันผวนของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และความอ่อนแอของสินทรัพย์เสี่ยง ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ยากจะควบคุมได้
การประเมินดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากการตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปจากการลงประชามตินั้น ได้ทำลายจารีตและพฤติกรรมของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอังกฤษที่ดำรงมายาวนานนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นมาอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า
โดยภูมิศาสตร์การเมืองอังกฤษ แม้จะมีสภาพเป็นเกาะ แต่โดยชาติพันธุ์แล้วอังกฤษไม่ใช่ชนชาติที่แตกต่างจากคนยุโรปอื่น ๆ ในอดีตนับแต่ยุคกลางตอนกลางเป็นต้นมา อังกฤษถูกชาติต่าง ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกับชาวเคลท์ที่อยู่มาดั้งเดิมทั้งจากยุโรปตอนเหนือ และฝรั่งเศส จนผสมผสานกลายมาเป็นชนเชื้อสายแองโกล-แซกซอนในปัจจุบัน แม้กระทั่งราชวงศ์อังกฤษในปัจจุบัน ก็ยังสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ฮันโนเวอร์ของเยอรมนีด้วยซ้ำ
อังกฤษเริ่มมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปมาตั้งแต่สงครามครูเสด โดยกษัตริย์ริชาร์ดใจสิงห์ ทรงนำทัพเข้าไปร่วมในสงครามครูเสด (แม้จะไปไม่ถึงเพราะถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ในเยอรมันเสียก่อน) และต่อมาในยุคเรเนสซองส์ตอนปลาย อังกฤษได้กลายเป็นชาติการค้าที่เที่ยวไปสร้างพันธมิตรทางการค้าและการทหาร กับหลายชาติในยุโรป นับตั้งแต่การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสเปนเพื่อสร้างพันธมิตรต่อต้านฝรั่งเศส และสร้างพันธมิตรกับเนเธอร์แลนด์เพื่อหาทางลดอำนาจของสันนิบาตผูกขาดการค้า ฮันเซียติกในทะเลบอลติกลง จนกระทั่งกลายมาเป็น “พันธมิตรโปรเตสแตนท์” ในยุคของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8
นับจากนั้นเป็นต้นมา อังกฤษไม่เคยร้างราจากการสร้างพันธมิตรและมีบทบาทในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยุโรปเลย มีสนธิสัญญาในประวัติศาสตร์ยุโรปที่อังกฤษร่วมลงนามด้วยมากกว่า 500 สัญญาในรอบหลายร้อยปีที่ผ่านมา
บทบาทของความสัมพันธ์ในการสร้างและเปลี่ยนพันธมิตรแต่ละครั้งของอังกฤษ (รวมทั้งเป็นชาติคริสเตียนรายแรกที่สร้างพันธมิตรทางทหารและการค้ากับจักรวรรดิออตโตมันที่เป็นมุสลิมเพื่อประโยชน์ทางการค้าในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17) มีส่วนสร้างอิทธิพลของอังกฤษต่อยุโรปต่อเนื่องไม่เคยขาดสายจนถึงสหัสวรรษ 2001 เป็นต้นมา จนได้ชื่อว่าเป็นชาติหนึ่งที่มีความช่ำชองกับชั้นเชิงทางการทูตและการทหารในเวทีระหว่างประเทศอย่างยิ่งชาติหนึ่งในโลก
บทบาทในอดีตของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันซับซ้อนของอังกฤษในรอบ 500 กว่าปีที่ผ่านมา มีส่วนทำให้อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจหัวแถวของโลก แม้ว่าจะไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบันอีกแล้วก็ตาม
ไม่เคยมีครั้งใดที่อังกฤษจะใช้นโยบายการต่างประเทศแบบหันหลังให้กับยุโรปอย่างโดดเดี่ยวตนเอง เช่นการลงประชามติครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 23 มิถุนายน
คำเตือนเชิงลบมากมาย มีส่วนทำให้ผู้นำอย่างนางเมย์ อยู่ในฐานะลำบาก เพราะโลกของความเป็นจริงกับทัศนคติมีช่องว่างที่เห็นได้ชัด
ก่อนหน้านี้ ไม่มีใครกล้าคาดเดาอนาคตของอังกฤษในยุคโดดเดี่ยว “ที่ไม่น่ารัก” ด้วยอหังการของความคิดชาตินิยมคับแคบที่กำลังเฟื่องฟูชั่วคราวยามนี้ เพราะการเลี้ยวกลับแบบ 180 องศาของนโยบายต่างประเทศ เป็นปรากฏการณ์แหวกจารีตที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อนเอาเสียเลย ไม่ใช่แค่คนอังกฤษเอง แต่หมายถึงคนทั่วโลกด้วย แต่ยามนี้ ทุกคนคาดเดาได้ว่าไม่เกินสิ้นปีนี้ รัฐบาลของนางเมย์จะตกเก้าอี้แน่นอน
นั่นหมายความว่า การถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด