ภาษีลาภซ้ำซ้อน
รัฐบาลประกาศจะเก็บภาษี “ลาภลอย” จากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ครอบครองที่ดินหรืออาคารชุดในเชิงพาณิชย์ ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางคู่ สนามบิน ท่าเรือ ทางด่วน กำหนดเพดาน 5% ของส่วนต่างมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น นับจากวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
รัฐบาลประกาศจะเก็บภาษี “ลาภลอย” จากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่ครอบครองที่ดินหรืออาคารชุดในเชิงพาณิชย์ ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางคู่ สนามบิน ท่าเรือ ทางด่วน กำหนดเพดาน 5% ของส่วนต่างมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น นับจากวันที่รัฐเริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
ฟังดูก็เหมือนดี ชาวบ้านทั่วไปไม่เดือดร้อนอะไร ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยหรือเพื่อเกษตรกรรมก็ไม่เก็บ มีแต่พ่อค้านายทุนที่ต้องเสียภาษี ซึ่งสมแล้วเพราะได้ประโยชน์จากการลงทุนสาธารณูปโภคของรัฐ อยู่ดี ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย ราคาที่ดินก็เพิ่ม จึงต้องเก็บภาษีเสียบ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม
แต่ช้าแต่ นี่มันหลักเดียวกับการเก็บภาษีที่ดินไม่ใช่หรือครับ ภาษีที่ดินก็ถือหลักว่าที่ดินของคุณอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย เกิดความเจริญจากการลงทุนของรัฐ หรือความเติบโตของสังคม ทำให้บ้านเมืองขยายตัว จนที่ดินราคาตารางวาละพันเมื่อยี่สิบปีก่อนกลายเป็นหลักหมื่น เกิดการซื้อกักตุนเก็งกำไร จึงควรจ่ายภาษีตามราคาประเมินที่เพิ่มขึ้นทุกปี
พูดง่าย ๆ คือมันซ้ำซ้อนกัน ถ้าภาษีทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ ที่ดิน 100 ล้านใกล้รถไฟฟ้า ต้องเสียภาษีที่ดินทุกปี ตามราคาประเมินที่เพิ่มขึ้น แล้วก็ยังต้องเสียภาษีลาภลอย ตามราคาประเมินที่เพิ่มขึ้น เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ
ขณะเดียวกัน การประกาศพื้นที่กว้างขนาด 5 กิโลเมตรรอบโครงการ ก็เป็นเรื่องน่าขัน ถามว่าหมู่บ้านจัดสรรในซอยห่างรถไฟฟ้า 4.9 กม. ราคาเพิ่มขึ้นแค่ไหน ที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มตามปกติ หรือมาจากรถไฟฟ้ากันแน่ คงเถียงกันตาย อ้าว อีกหมู่บ้านที่ห่างไป 200 เมตรก็เพิ่มเหมือนกัน ทำไมไม่ต้องเสียภาษี
ที่พูดอย่างนี้ จึงไม่ใช่ห่วงเศรษฐีนายทุนที่ไหน แต่อยากทวงถามว่าทำไมภาษีที่ดินไม่ผ่านสักที แถมดูไปดูมา ก็จะไม่ใช่การเก็บภาษีเพื่อความเป็นธรรม อย่างบ้านพักอาศัย ทีแรกกำหนดไว้ 50 ล้าน จะลดเพดานลง 20 ล้าน แล้วก็กลับไป 50 ล้าน คนมีบ้านหลังใหญ่โตมโหฬารราคา 49 ล้านไม่ต้องเสียภาษี เหมือนคนมีทาวน์เฮาส์ 16 ตารางวา มันเป็นธรรมที่ไหนกัน
ว่าที่จริงในสังคมที่คนไม่มีบ้านอยู่ตั้งเยอะแยะ บ้านราคา 1 ล้านก็ควรเสียภาษี แต่ในอัตราต่ำมาก แล้วขยับขึ้นไปตามอัตราก้าวหน้า คนอยู่บ้านราคา 10 ล้าน เสียภาษีปีละ 1-2 พัน เดือดร้อนอะไรกัน ในเมื่อแต่ละปี ราคาที่ดินเพิ่มมากกว่านั้นหลายเท่า
ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำจริง ภาษีที่ดินต้องเก็บอัตราก้าวหน้า แบบใครถือครองมากยิ่งเสียมาก นับรวมจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองทั้งประเทศ ไม่ใช่แยกเก็บรายแปลง โดยใช้โครงสร้างภาษีบำรุงท้องที่แบบดั้งเดิม
น่าสังเกตว่า การออกมาตรการภาษีในประเทศนี้เป็นเรื่องยาก ทำกล้า ๆ กลัว ๆ แบบภาษีที่ดินไม่กล้าเก็บบ้านพักอาศัยต่ำกว่า 50 ล้านบาท กลัวคนชั้นกลางระดับบนต่อต้าน ภาษีลาภลอยก็จำกัดวงเกิน 50 ล้านเพื่อการพาณิชย์ คนทั่วไปจะได้ไม่โวย ทั้งที่ไม่ควรซ้ำซ้อน ถ้าอยากลดเหลื่อมล้ำก็ต้องเก็บภาษีที่ดินทั้งหมดภายใต้อัตราก้าวหน้า
เคยย้อนดูบ้างไหมว่า ทำไมคนไทยไม่อยากเสียภาษี มองดูดี ๆ น่าจะเป็นเพราะระบบภาษีเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม คนรวยเลี่ยงได้ มนุษย์เงินเดือนหนีไม่ออก แถมเงินภาษีก็เอาไปขึ้นเงินเดือน เอาไปซื้อเครื่องบิน อะไรทำนองนั้น ใครมันจะอยากเสียภาษี