ลาภลอย BTS
ไม่แน่ใจว่าวันนี้ รถไฟฟ้า BTS จะขัดข้องอีกไหม หลังผู้โดยสารตกค้าง 12 ครั้งในเดือน มิ.ย. จนแห่ทวีต #ยกเลิกสัมปทาน BTS กันยกใหญ่ เดือน ก.ค.ก็มีปัญหาประปราย ยังต้องรอติดตั้งเครื่องกรองสัญญาณครบทุกสถานีในเดือน ต.ค. ซึ่งถ้าไม่ได้ผล ก็อาจต้องขอ กสทช.ใช้คลื่นความถี่ใหม่
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
ไม่แน่ใจว่าวันนี้ รถไฟฟ้า BTS จะขัดข้องอีกไหม หลังผู้โดยสารตกค้าง 12 ครั้งในเดือน มิ.ย. จนแห่ทวีต #ยกเลิกสัมปทาน BTS กันยกใหญ่ เดือน ก.ค.ก็มีปัญหาประปราย ยังต้องรอติดตั้งเครื่องกรองสัญญาณครบทุกสถานีในเดือน ต.ค. ซึ่งถ้าไม่ได้ผล ก็อาจต้องขอ กสทช.ใช้คลื่นความถี่ใหม่
ปัญหาเทคนิคยังไม่ใหญ่เท่าภาพลักษณ์ ซึ่งเห็นชัดว่าเกิดดราม่า คนกรุงหมั่นไส้ “รถไฟฟ้าไม่มาหานะเธอ” จากท่าทีในการชี้แจง ความรับผิด การชดใช้ ซึ่งไปพีกสุดตอนคีรี กาญจนพาสน์ บอกว่าคิดผิดที่ตัดสินใจลงทุนเมื่อ 20 ปีก่อน
คิดผิดอะไร BTS มีแต่ได้กับได้ นอกจากได้ต่อสัญญาจ้างเดินรถถึงปี 2585 จากที่มีสัมปทานถึงปี 2572 ยังได้สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อีก 12.58 และ 18.20 กม.อีกต่างหาก
ย้อนคิดแล้วก็เป็นโชคดีของ BTS ที่ดราม่า #ยกเลิกสัมปทาน BTS มาเกิดหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี ให้ กทม.รับโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 สายจาก รฟม.ไปแล้ว และ กทม.โดยบริษัทกรุงเทพธนาคม ก็ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถไปเรียบร้อยโรงเรียนคีรีแล้ว ด้วยมูลค่า 1.61 แสนล้านบาท
จาก #ยกเลิกสัมปทาน BTS ความจริงคือ #ขยายสัมปทาน BTS เพียงยังเหลือขั้นตอนสุดท้าย คือวันที่ 25 ก.ค.นี้ สภา กทม.จะต้องลงมติรับโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง แล้วจ่ายค่าก่อสร้าง 111,175.20 ล้านบาท ชดใช้ให้ รฟม.
ถ้าเป็นสภาเลือกตั้ง คงถกกันเดือด แต่นี่ขนาดเป็นสภา คสช.ตั้ง ผู้ว่าฯ คสช.ตั้ง ก็ยังมีข่าวสภา กทม.ตั้งแง่ ไม่อยากแบกหนี้ก้อนใหญ่ ขอรับภาระเฉพาะงานระบบ 23,000 ล้านบาท ที่เหลือให้รัฐบาลรับไป
เข้าใจกันก่อนนะ ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต 18.2 กม. แบริ่ง-สมุทรปราการ 12.58 กม. ลงทุนโดย รฟม. ซึ่งตอนแรกคิดจะเดินรถเอง แต่พอรัฐบาลนี้เข้ามา ก็เห็นว่าให้ กทม.เข้ามาบริหารจัดการ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า BTS เสียเลยสะดวกกว่า
ดูเผิน ๆ รัฐบาลก็น่าจะคิดถูก แต่ปัญหาคือ พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ กทม. มันกินไปถึงสมุทรปราการและปทุมธานี สภา กทม.จึงข้องใจว่าทำไมต้องเอางบ กทม.ไปรับภาระ
มองมุมหนึ่ง ถ้าบอกว่าเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม อย่ามัวแบ่งเขตจังหวัด ก็น่าจะใช่ แต่มองอีกมุมหนึ่ง มันคือการที่ กทม.ขยายสัมปทานออกไปทำประโยชน์นอกพื้นที่ตัวเอง ถึงจะเป็นบริการสาธารณูปโภคต่อเนื่อง มันก็กลายเป็นการลงทุนทางธุรกิจ ซึ่งต้องคำนึงถึงความเสี่ยงความคุ้มค่า
แถมเวลาทำสัญญา เข้าใจกันก่อนนะ กทม.ไม่ได้ทำเอง แต่ว่าจ้างให้บริษัทกรุงเทพธนาคมบริหารจัดการ แล้วกรุงเทพธนาคมมาทำสัญญาจ้าง BTS เดินรถอีกที แบบที่ทำเมื่อปี 55 ซึ่งก็มีปัญหาว่า การว่าจ้างนี้ไม่ต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อความโปร่งใส
อย่าว่าอื่นไกล สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.ปชป.ก็เคยทักท้วงไว้ว่า กรุงเทพธนาคมจ้าง BTS แพงเกินไป แพงกว่าที่ รฟม.จ้าง BEM เกือบ 2 เท่า
อันที่จริง เมื่อปลายปีที่แล้วหลังเห็น กทม.ล่าช้า รฟม.ก็เคยเสนอว่า ไม่ต้องโอนให้ กทม.ก็ได้ ให้ยังเป็นของ รฟม.แล้วจะไปจ้าง BTS นั่นแหละเดินรถ แต่จะต้องทำตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนอย่างเคร่งครัด ไม่ต้องมีบริษัทลูกเป็นตัวกลาง
แต่ก็ไม่มีใครเอา ยังยืนยันโอนให้ กทม.เพื่อให้กรุงเทพธนาคมเอาไปจ้าง BTS ต่ออีกที