BTS มั่นใจกำไรปี 61-62 โตตามเป้า 25% เร่งศึกษา TOR รถไฟเชื่อม 3 สนามบินก่อนเข้าประมูล

BTS มั่นใจกำไรปี 61-62 โตตามเป้า 25% เร่งศึกษา TOR รถไฟเชื่อม 3 สนามบินก่อนเข้าประมูล เชื่อพันธมิตรกลุ่ม BTSC มีศักยภาพสูง


นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าจะผลักดันให้กำไรสุทธิในปี 61/62 (เม.ย.61-มี.ค.62) บรรลุตามเป้าหมาย 5 ปี ที่ตั้งไว้มีกำไรเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี และคาดว่ารายได้ในปี 6 1/62 จะเติบโตก้าวกระโดดถึง 200% จากปี 60/61 (เม.ย.60-มี.ค.61) ที่มีกำไรสุทธิ 4.42 พันล้านบาท และมีรายได้รวมราว 1.69 หมื่นล้านบาท

โดยรายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจยังคงมาจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชน จากการรับรู้รายได้ต่อเนื่องจากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (O&M) และการรับเหมาติดตั้งงานระบบและจัดหารถไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและใต้ ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการเดือนธ.ค.61 สำหรับส่วนต่อขยายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) และปี 62 สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต)

ประกอบกับบริษัทจะบันทึกรายได้จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง ขณะที่ยังคาดว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายหลักจะเพิ่มขึ้นอีก 4-5% จากปีก่อน ที่มีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 241 ล้านเที่ยวคน ขณะที่อัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2% จากปี 61 ที่เฉลี่ย 28.3 บาท/เที่ยว

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายในเบื้องต้นถึงปี 64/65 จะมีระยะทางของธุรกิจขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเป็น 132 กิโลเมตร (กม.) เพิ่มขึ้นจากปี 60/61 ที่มีระยะทางรวม 38.1 กม. ซึ่งจะช่วยเพิ่มผู้โดยสารได้เป็น 2 ล้านเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 8 แสนเที่ยวคน/วัน โดยที่บริษัทจะเข้าร่วมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในปี 61/62 เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม ระยะทาง 39.6 กิโลเมตร ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงต้นปี 62 รถไฟฟ้าขนาดเบา (LRT) ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร ซึ่งบริษัทมั่นใจในประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงความพร้อมในทุกด้านทั้งเงินทุน พันธมิตรและเทคโนโลยี ทำให้บริษัทจึงมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าตามแผนของรัฐบาลทุกโครงการ

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 220 กิโลเมตร เชื่อม 3 สนามบิน ที่บริษัทได้ไปซื้อซองประมูล (TOR) มาแล้วนั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาการลงทุนอย่างละเอียด เนื่องจากการลงทุนโครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งครอบคลุมการลงทุนทั้งระบบขนส่งมวลชน และการพัฒนาที่ดินทำเลมักกะสัน 100 ไร่ และศรีราชา 25 ไร่ โดยเฉพาะในส่วนของการพัฒนาที่ดินเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ทำให้การพิจารณาและการศึกษาข้อมูลของทีโออาร์จะต้องใช้การศึกษาอย่างรอบคอบ

พร้อมกับการมีพันธมิตรที่มีความพร้อม ซึ่งพันธมิตรหลักของกลุ่ม BSR ยังคงประกอบด้วย 3 พันธมิตร ได้แก่ BTS, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)  และบมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งคาดว่าข้อสรุปของการศึกษาและการเจรจากับพันธมิตรอื่น ๆ ที่สนใจจะเห็นความชัดเจนออกมาในช่วงหลังเดือนส.ค.นี้ ก่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิดประมูลในวันที่ 12 พ.ย. 61

ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BTS กล่าวว่า แนวโน้มของจำนวนผู้โดยสารในไตรมาสแรกของปี 61/62 (เม.ย.-มิ.ย. 61) ยอมรับว่าเติบโตไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุขัดข้องการเดินรถในช่วงปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่บริษัทยังมั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารในปี 61/62 จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 4-5% โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 800,000 คน/วัน โดยการแก้ไขปัญหาความขัดข้องจากสัญญาณรบกวนนั้น บริษัทจะทยอยติดตั้งเครื่องป้องกันสัญญาณรบกวนทั้งในรถไฟฟ้าและสถานี ซึ่งจะทยอยติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ โดยช่วงวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 27-30 ก.ค.61 บริษัทเตรียมการติดตั้งเครื่องป้องกันสัญญาณรบกวนให้ได้มากที่สุด

สำหรับการเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟฟ้าใหม่ที่บริษัทสั่งเพิ่มไป 46 ขบวน ในปี 61 จะมีการรับมอบขบวนรถไฟฟ้าจากซีเมนส์ถึงสิ้นปีนี้รวม 10 ขบวน และในปี 62 จะรับมอบขบวนรถไฟที่เหลืออีก 36 ขบวน ซึ่งส่วนใหญ่จะทยอยรับมอบช่วงปลายปี 62 โดยที่จะเข้ามาเสริมการให้บริการเดินรถในส่วนของสายสีเขียวตอนใต้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีจำนวนรถไฟฟ้าให้บริการทั้งสิ้น 52 ขบวน

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง (ระยะที่ 1 : กรุงธนบุรี-คลองสาน) ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ในการที่ BTSC จะเป็นผู้ให้บริการเดินรถของสายสีทอง ซึ่งในเร็ว ๆ นี้จะได้ข้อสรุปดังกล่าวออกมา ซึ่งบริษัทมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ BTSC จะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ เนื่องจากเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นส่วนต่อขยายที่เชื่อมต่อกับเส้นทางสายสีเขียวของบริษัทที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

ด้าน นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS กล่าวถึงธุรกิจสื่อโฆษณาภายใต้การบริหารงานของ บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ว่า VGI ตั้งเป้ารายได้จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 63/64 หรือภายใน 3 ปี เพิ่มขึ้นจากงวดปี 60/61 ที่มีรายได้ราว 4 พันล้านบาท โดยปัจจุบัน VGI เป็นบริษัทที่ให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้านที่ผสานสื่อออฟไลน์และออนไลน์ ไว้ด้วยกันแบบครบวงจรเป็น O2O Solutions รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

โดยธุรกิจ VGI ประกอบด้วย 3 แพลตฟอร์มหลักคือ ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้านทั้งหมด ธุรกิจให้บริการชำระเงินของ Rabbit Group  และธุรกิจโลจิสติกส์ที่ครบวงจรของเคอรี่ เอ็กเพรส โดยมีดาต้าหรือฐานข้อมูลผู้บริโภคกระจายอยู่ในทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ VGI สามารถนำเสนอโซลูชันส์ ให้ลูกค้าในการใช้สื่อโฆษณาได้อย่างหลากหลายครบวงจร ทั้ง 360 องศา เพื่อให้สื่อสารถึงผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในเวลาที่ถูกต้อง ด้วยโฆษณาที่ตรงจุด  และยังสามารถวัดผลได้ ซึ่งถือเป็นความได้เปรียบที่เหนือคู่แข่ง ส่วนบัตรแรบบิทและแรบบิท ไลน์เพย์ ในเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้จะมีการรวมเข้าด้วยกันเป็นกระเป๋าเดียว จากปัจจุบันที่บัตรแรบบิทและแรบบิทไลน์เพย์ต้องเติมเงินแยกกระเป๋ากัน

นายคีรี กล่าวเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า หลังจากปรับโครงสร้างและโอนสินทรัพย์ของกลุ่มบีทีเอสให้มาอยู่ภายใต้ บมจ.ยู ซิตี้ (U) ซึ่ง BTS ถือหุ้นใน U ราว 39% โดยพอร์ตของ U มีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างรายได้เข้าบริษัทได้ทันที รวมถึงประเมินว่าผลการดำเนินงานของ U ในปี 61/62 จะพลิกกลับมามีกำไร โดยปัจจุบัน U มีโรงแรมภายใต้การบริหารรวมกันราว 20,000 ห้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง U นับจะเป็นแกนหลักในการรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้กับ BTS โดยปีนี้จะเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ในมือและที่จะขยายการลงทุนเพิ่ม

ขณะที่ BTS มีที่ดินอยู่ในมือปัจจุบันมูลค่ารวมกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นที่ดินในแนวรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วและเส้นทางในอนาคต ซึ่งจะมีการทยอยพัฒนาตามความเหมาะสม โดยที่บางทำเลอาจจะให้ U เป็นผู้พัฒนา ส่วนที่ดินบนทำเลยย่านคูคตที่เป็นแปลงติดกับที่ดินของบมจ.บางกอก เดค-คอน (BKD) ปัจจุบันยังไม่มีแผนการลงทุน และยังไม่ได้มีการเจรจากับผู้ประกอบการใด ๆ เพื่อพัฒนาเป็นโครงการ

Back to top button