EEC ฮุบที่รถไฟ

โดยปกติ ไม่ใช่จะเห็นด้วยกับ “นักร้อง” ศรีสุวรรณ จรรยา ไปเสียทุกเรื่องหรอก แต่ครั้งนี้ ที่ศรีสุวรรณคัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกฝ่ายควรสนใจ เพราะนี่คือโคตรอภิมหาโปรเจกต์ ที่ยักษ์ใหญ่รายไหนได้ไป ก็แทบจะนอนตีพุงบนยอดพีระมิดเศรษฐกิจไทยไปอีก 50+49 ปี


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

โดยปกติ ไม่ใช่จะเห็นด้วยกับ “นักร้อง” ศรีสุวรรณ จรรยา ไปเสียทุกเรื่องหรอก แต่ครั้งนี้ ที่ศรีสุวรรณคัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกฝ่ายควรสนใจ เพราะนี่คือโคตรอภิมหาโปรเจกต์ ที่ยักษ์ใหญ่รายไหนได้ไป ก็แทบจะนอนตีพุงบนยอดพีระมิดเศรษฐกิจไทยไปอีก 50+49 ปี

ประเด็นสำคัญที่ควรถกกัน แต่ไม่ยักมีใครถก มีแต่เออออห่อหมก คือการเอาที่ดินมักกะสันของการรถไฟฯ 149 ไร่ มาพ่วงไว้ในโครงการนี้ โดยอ้างว่าต้องใช้เป็นศูนย์เชื่อมโยง เลยยกที่ดินให้ทั้งหมดกลายเป็นเอาที่ทำเลทองร้อยกว่าไร่มาล่อใจ แทนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งค่าก่อสร้าง 1.2 แสนล้านถือว่าจิ๊บ ๆ ไปเลยเมื่อเทียบมูลค่าโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ไม่งั้นก็คงไม่มีเอกชนซื้อซองถึง 31 ราย ไปถามดูสิ ทุกคนมองว่ามีแต่ได้ยิ่งกว่าได้ แต่ใครจะชนะประมูลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งรู้อยู่แก่ใจ

TOR โครงการนี้เขียนต่างจากโครงการอื่น คือเป็นทั้งโครงการก่อสร้างและบริหารรถไฟความเร็วสูง พร้อมโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้เข้าประมูลต้องมีประสบการณ์ทั้งสองด้าน ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ต้องมาจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กัน

ศรีสุวรรณ สหภาพรถไฟ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคประชาชน ที่เคลื่อนไหวคัดค้านมาก่อนหน้านี้ จึงถามว่าทำไมไม่แยกกัน ทำไมมัดมือชกการรถไฟฯ แม้ใน TOR บอกว่าต้องเช่าที่ตามราคาตลาด แต่หากแยกโครงการ แล้วเหลือที่รถไฟมักกะสันสัก 100 ไร่ อะโห หนี้สินการรถไฟฯ ที่มีอยู่ 1.2 แสนล้าน เผลอ ๆ จะเหลือไปลงทุนเปลี่ยนขบวนรถโดยสารให้ชาวบ้านสะดวกสบายทั้งประเทศ

ที่น่าสังเกตคือ โครงการนี้ยังจะเร่งประมูลให้เสร็จภายในรัฐบาลนี้ โดยให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 12 พ.ย. 2561 สรุปในเดือน ก.พ. 2562 แล้วให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติกลางปี 2562

คือต่อให้มีเลือกตั้ง ก.พ. 2562 จริง ก็ต้องใช้เวลา 2 เดือนกว่าจะเปิดประชุมสภา กว่าจะตั้งรัฐบาล แล้วถึงตอนนั้นใครจะค้านก็ยาก

แต่นั่นแหละ คนมีการศึกษาจำนวนมากในสังคม เห็นดีเห็นงามว่าควรให้รัฐบาลทหารแบ่งเค้กโครงการใหญ่เสียให้หมด ก่อนมีเลือกตั้ง เดี๋ยวนักการเมืองชั่วจะเข้ามาสวาปาม ไม่มองว่านี่คือการตัดสินใจในยุครวบอำนาจ คนเห็นต่างไม่มีช่องทางโต้แย้งได้

กระนั้นที่ว่าเป็นยุคโปร่งใสใต้ ม.44 ก็จำไม่ได้หรือ เมื่อ ก.พ.ปีที่แล้ว มีคำสั่งปลดบอร์ดและผู้ว่ารถไฟ ที่รัฐบาล คสช.ตั้งมาเองกับมือ อ้างว่ามีข้อร้องเรียนจำนวนมากถึงปัญหาความไม่โปร่งใสในการประมูลงานและจัดซื้อจัดจ้าง

ปีครึ่งผ่านไป ชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่า อดีตบอร์ดอดีตผู้ว่าผิดจริงไหม มีการประมูลไม่โปร่งใสหรือเปล่า บอร์ดใหม่ผู้ว่าใหม่ก็เข้ามาทำโครงการใหญ่ขึ้นไปอีก

มีเรื่องน่าขำว่า โคตรอภิมหาโปรเจกต์นี้ แทนที่อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม จะดูแลเอง กลับมอบให้ รมช.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต CEO ปตท.มาคุมแทน อาจเป็นเพราะกล้าได้กล้าเสียกว่า และผู้บริหาร ปตท.มีสายสัมพันธ์อันดีกับสื่อ

แต่คงลืมไปว่า ปตท.ยุคไพรินทร์นี่ไง กดค่าเช่าที่รถไฟ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ปตท. ครบสัญญา 30 ปี ยังอ้างสิทธิเช่าต่อโดยไม่ต้องจ่าย แบบเวลาเช่าที่รถไฟบอกเราเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกัน แต่เวลากำไรแสนล้าน บอกเราเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ สหภาพรถไฟยังจำได้อยู่นะ

Back to top button