โบรกฯชี้ “เขื่อนแตก” ฉุด RATCH กำลังผลิตหด-กระทบราคาหุ้น 1 บ. จ่อชดใช้ค่าเสียหายอื้อ

โบรกฯชี้ "เขื่อนแตก" ฉุด RATCH กำลังผลิตหด-กระทบราคาหุ้น 1 บ. จ่อชดใช้ค่าเสียหายอื้อ


จากเหตุการณ์สันเขื่อนดินย่อยส่วน D ของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แตก เนื่องจากปริมาณน้ำมากเกินกำหนด หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเขื่อนดังกล่าว บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ร่วมทุนในสัดส่วน 25%

ทั้งนี้ นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เปิดเผยว่า เขื่อนดินย่อยส่วน D เป็น 1 ใน 5 เขื่อนย่อยที่อยู่ล้อมรอบเขื่อนหลักที่ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบกับเขื่อนหลัก และเชื่อว่าจะไม่มีผลต่อกำหนดการเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเดือน ก.พ.62 โดยหลังจากนี้บริษัทที่รับเหมาก่อสร้างจะสร้างคันโดยรอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อเสริมความแข็งแรงของเขื่อนย่อย

ขณะที่ บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำ”เซเปียน-เซน้ำน้อย”ที่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 25% เกิดเหตุสันเขื่อนดินย่อยส่วน D แตก เนื่องจากปริมาณน้ำมากเกินกำหนด หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มวลน้ำราว 600 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่คาดว่าจะยัง COD ได้ตามกำหนด ก.พ.62

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยมองเป็นประเด็นลบ แม้ว่า RATCH มีกำลังการผลิต 6,624 MW ขณะที่โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยมีกำลังการผลิตที่เป็นของ RATCH ประมาณ 102.5 MW และเป็นโครงการในอนาคตที่จะ COD ในปี 2562 ทำให้ยังมีเวลาในการซ่อมแซม และคิดเป็นเพียง 1.5% ของกำลังการผลิตรวม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและอาจมีค่าใช้จ่ายในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะส่งผลให้ต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นและกระทบต่อ IRR ของโครงการดังกล่าวให้ปรับตัวลง

ขณะเดียวกัน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวกระทบต่อประมาณการฯ และ Fair Value ของ RATCH ในวงจำกัด และ ในกรณีเลวร้ายไม่รวมโครงการนี้ 102.5 เมกะวัตต์ (คิดตามสัดส่วนที่ RATCH ถือ 25% จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 410 เมกะวัตต์) จะกระทบต่อกำลังการผลิตรวมของ RATCH เพียง 1.5% จากกำลังการผลิตรวมทั้งหมดของ RATCH ที่ราว 7,000 เมกะวัตต์ และกระทบต่อ Fair Value ราว 1 บาท

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชากรกว่า 6 พันราย รวมทั้งทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ประเมินว่ามีมูลค่าค่อนข้างสูง แม้โครงการดังกล่าวจะยังมิได้ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ แต่คาดว่าบริษัทร่วมทุนทั้ง 4 รวมทั้ง RATCH น่าจะมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็น downside risk และเป็น sentiment เชิงลบ ระยะสั้นแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อนเพื่อรอความชัดเจน

ด้าน ราคาหุ้น RATCH ล่าสุด ณ เวลา 11.26 น. อยู่ที่ 51 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.49% สูงสุดที่ 51.25 บาท ต่ำสุดที่ 50.25 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 237.17 ล้านบาท

Back to top button