สันนิบาตแอตแลนติก

ในที่สุดภาษิตเก่าแต่ครั้งโบราณที่ว่า เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ก็หวนคืนมาอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) (เจ้าของฉายา มิสเตอร์ยุโรป) ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อเตรียมยุติการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในวันข้างหน้า ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ในที่สุดภาษิตเก่าแต่ครั้งโบราณที่ว่า  เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ก็หวนคืนมาอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) (เจ้าของฉายา มิสเตอร์ยุโรป) ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อเตรียมยุติการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในวันข้างหน้า ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย

ข้อตกลงร่วมมือกันดังกล่าวมีรายละเอียดมากกว่าข้อตกลงทำนองเดียวกันระหวางสหรัฐฯ กับชาติข้อตกลง NAFTA อย่าง แคนาดา และเม็กซิโกในเงื่อนไขหลบเลี่ยงสงครามการค้า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะระงับการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ตราบใดที่การเจรจาการค้ายังคงดำเนินไป โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าสินค้าในกลุ่มรถยนต์

เมื่อวันศุกร์ หุ้นกลุ่มรถยนต์ดีดตัวขึ้นขานรับผลการเจรจาดังกล่าว โดยหุ้นโฟล์กสวาเกน พุ่งขึ้น 4% หุ้นเฟียต ไครสเลอร์ ออโต้โมบิล ทะยานขึ้น 3.5% หุ้น BMW พุ่งขึ้น 4.4% หุ้นเรโนลต์ เพิ่มขึ้น 1.5% และหุ้นเดมเลอร์ พุ่งขึ้น 2.8%

การกลับลำคืนดีกันภายใต้เงื่อนไขพิเศษ ชนิดยูเทิร์น 180 องศา ระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรปตะวันตกไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะความสำคัญของยุโรปที่มีต่อสหรัฐฯ นั้นมีมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ มาโดยตลอด

ในทางยุทธศาสตร์ยุโรปตะวันตก นอกจากจะเป็น “ก้างขวางคอ” ชิ้นสำคัญของรัสเซียที่มุ่งแผ่ขยายอิทธิพลจากพื้นที่เดิมในยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ ยังเป็นสมาชิกร่วมของข้อตกลงนาโต (NATO) ที่เปิดช่องให้กับข้ออ้างปฏิบัติการทางทหารในยุโรปได้เต็มที่อีกทางหนึ่ง

ในทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯ เองเคยสนับสนุนเบื้องหลังการรวมตัวของสหภาพยุโรปเป็นตลาดเดียว หรือยูโรโซน แม้ว่าล่าสุดจะเริ่มเพี้ยนกรณีหนุนหลังอังกฤษให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ด้านขนาดของเศรษฐกิจ หากคิดรวมตัวเลขรายได้ประชาชาติหรือความมั่งคั่ง ทั้งสหรัฐฯ และยูโรโซน มีขนาดคิดเป็น 60% ของโลก มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวม  33% ของโลก และมีขนาดธุรกรรมด้านบริการคิดเป็น 42% ของทั้งโลก

ในทางการค้า การค้าสหภาพยุโรปคือหุ้นส่วนทางการค้ารายใหญ่สุด สินค้าส่งออกอเมริกัน (ไม่รวมสินค้าบริการ) ไปยังสหภาพยุโรปหรือยูโรโซน (ไม่รวมอังกฤษ) คิดเป็นสัดส่วน 19% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด และสหรัฐฯ ก็เป็นตลาดนำเข้าสินค้าจากยูโรโซนอีก 19% เช่นกัน ในขณะที่สินค้าบริการสหรัฐฯ ส่งออกไปยูโรโซนคิดเป็น 31% ของยอดส่งออกทั้งหมด และนำเข้าจากยูโรโซน คิดเป็น 35.5% ของยอดนำเข้าทั้งหมด

ทางด้านความสำคัญของสหรัฐฯ ต่อสหภาพยุโรปนั้นเล่า ก็ไม่ธรรมดา เพราะสินค้า (ไม่รวมบริการ) ส่งออกจากยูโรโซนไปสหรัฐฯ คิดเป็น 20% ของยอดส่งออกทั้งหมด และนำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็น 15% สะท้อนว่ายูโรโซนพึ่งพาสหรัฐฯ มากกว่า

ในขณะที่หากรวมสินค้าบริการ ยอดส่งออกจากยูโรโซนไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน  27% ของยอดทั้งหมด แต่นำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็น 30.5% ของยอดรวมทั้งหมด

ความเชื่อมโยงที่ค่อนข้างมากและซับซ้อนทั้งทางทหารและเศรษฐกิจระหว่างกัน ทำให้สหรัฐฯ-ยุโรปตะวันตกไม่อาจแยกจากกันได้ เหตุผลหลักคือสหรัฐฯ-ยุโรปตะวันตก ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตชาติร่ำรวยที่เป็นแกนหลักของทุนนิยมระดับโลก

ความสัมพันธ์อันซับซ้อนนี้ แตกต่างจากความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและ/หรือรัสเซีย ที่ไม่ซับซ้อนมากเท่ายุโรปตะวันตก

การคืนดีระดับ “จูบปาก” โดยมีเงื่อนไขกำกับชัดเจน หลังจากเจรจาต่อรองกัน มีเป้าหมายสำคัญว่า สหรัฐฯ จะชะลอการขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากยูโรโซน แลกเปลี่ยนกับเปิดตลาดใหม่ในการส่งออกสินค้าเกษตรให้กับสินค้าจากสหรัฐฯ น่าจะถือได้ว่าลีลาการ “ตบจูบ” ของทีมงานในสงครามการค้าสหรัฐฯ นั้น ไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

เหลือก็เพียงแค่จีนซึ่งเป็น “ตัวแปรใหม่และโหดหิน” ที่ยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่า จะลงเอยหรือบานปลายลุกลาม

Back to top button