3 โบรกฯฟันธง 10 หุ้นตัวท็อปลงทุนเดือนส.ค.เน้นหุ้นพื้นฐาน-ปันผลโดดเด่นเข้าพอร์ต

3 โบรกฯฟันธง 10 หุ้นตัวท็อปลงทุนเดือนส.ค.เน้นหุ้นพื้นฐาน-ปันผลโดดเด่นเข้าพอร์ต อาทิ TISCO,PTTEP,TMB,CPALL,TOP,BBL,TU,BCPG,PTTGC,SAWAD


เข้าสู่การลงทุนเดือนสิงหาคม “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมกลยุทธ์การลงทุน พร้อมปัจจัยที่ต้องจับตาในการลงทุนมานำเสนอโดยอาศัยบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ 3 แห่ง ประกอบด้วย บล.ทรีนีตี้,บล.เอเซีย พลัส และบล.บัวหลวง

โดยทั้ง 3 แห่งประเมินทิศทางตลาดเชื่อว่าแรงขับเคลื่อน SET Index ยังจะมาจากนักลงทุนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีผลทำให้ช่วงการปรับตัวขึ้นมีจำกัด โดยระดับ 1700 – 1710 จุด โดยประเมินว่าระดับดัชนีที่จะเริ่มเปราะบางในแง่ของ Valuation จะอยู่ที่บริเวณ 1,700 จุดขึ้นไป หรือเทียบเท่า Forward PE 14.1 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่มีเสถียรภาพมากที่สุดของ SET Index ในอดีต

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนใหม่ในเวลานี้จำเป็นที่จะต้องโฟกัสไปยังหุ้นขนาดใหญ่ (SET50) ที่ยังปรับตัวขึ้นได้น้อยกว่าตลาดในรอบนี้และเป็นหุ้นที่ยังคงคำแนะนำให้”ซื้อ”ในเชิงพื้นฐานและเน้นหุ้นที่คาดหมายว่าจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลโดดเด่นเข้าพอร์ต เช่น TISCO,PTTEP,TMB,CPALL,TOP,BBL,TU,BCPG,PTTGC,SAWAD โดยระบุไว้ด้งนี้

 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินถึงภาพการลงทุนเดือน ส.ค.61 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) จะเริ่มชะลอการปรับตัวขึ้น โดยมองกรอบแนวต้านแรกไว้ที่ 1,720 จุด และกรอบแนวต้านสำคัญที่ 1,750 จุด ส่วนแนวรับสำคัญที่ 1,650 จุด

ทั้งนี้ ภาพรวมในเดือน ก.ค.ตลาดหุ้นไทยปรับตัวรีบาวด์ขึ้นตามคาด หลังผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ออกมาดีกว่าคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ Outperform ตลาดและผลักดันภาพรวมตลาดในรอบ นอกจากนั้น ยังได้แรงหนุนจากการซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันจากการเพิ่มน้ำหนักของ Active fund manager ภายหลังจาก Valuation ของหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจและการไหลเข้าของเม็ดเงิน LTF/RMF รวมทั้งการเปิดขายกองทุน Trigger Fund

แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับประมาณการอัตราส่วนของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดหุ้นไทยขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการปรับตัวขึ้นมาของดัชนีครั้งนี้จึงมาพร้อมกับ Valuation สูงขึ้น ซึ่งประเมินว่าระดับดัชนีที่จะเริ่มเปราะบางในแง่ของ Valuation จะอยู่ที่บริเวณ 1,700 จุดขึ้นไป หรือเทียบเท่า Forward PE 14.1 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่มีเสถียรภาพมากที่สุดของ SET Index ในอดีต

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในเดือน ส.ค.นี้ ด้านปัจจัยบวก ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 2/61 ของกลุ่มธนาคารฯที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงทำให้ Sentiment ระยะสั้นของหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวดีขึ้น และยังแนะนำให้ติดตามผลประกอบการของกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังจะทยอยออกในช่วงถัดไป คาดว่าจะส่งผลต่อทิศทางของ SET Index ในระยะสั้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากกระแส Fund flow หรือเงินทุนไหลเข้าที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติ Long หรือซื้อสุทธิในตลาดล่วงหน้าติดต่อกันถึง 40,000 กว่าสัญญา และเริ่มซื้อสุทธิในตลาดหุ้นให้เห็นบ้างแล้ว

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงต้องติดตาม คือ 1.ประเด็นสงครามการค้าที่ยังคงมีความวุ่นวายต่อเนื่อง คาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยรบกวนบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป 2.การปรับตัวขึ้นของ Bond yield ไทยจนทำระดับสูงสุดใหม่ของปีนี้ ซึ่งหากยังคงปรับขึ้นต่ออีก อาจทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยเริ่มลดลง

3.ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในยุโรป เนื่องจากอิตาลีจะถึงคิวกำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ในเดือนนี้ ซึ่งกรณีนี้แนะนำให้จับตาท่าทีของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หากมีการออกมาลดอันดับ Credit rating ของอิตาลีลง มองว่าจะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดได้ 4.การเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-Shares ของจีนในดัชนี MSCI EM ช่วงปลายเดือนนี้อีก 2.5% ของ Market cap ที่อาจทำให้ Passive funds ที่อิงการลงทุนกับดัชนี MSCI EM มีการโยกย้ายเงินออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) อื่น ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนเดือน ส.ค. แนะนำนักลงทุนที่สะสมหุ้นไปตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.ให้ถือหุ้น Let profit run ต่อไปได้ แต่เนื่องด้วย Valuation ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาด้วยนั้น ทำให้มองว่าจะต้องกำหนดจุดขายทำกำไรที่ชัดเจน โดยหากดัชนีปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับแนวต้านแรกที่ 1,720 จุด แนะนำให้ขายทำกำไรออกมาส่วนหนึ่งและหากดัชนีปรับตัวขึ้นต่อไปยังบริเวณ 1,750 จุด มองว่าจำเป็นที่จะต้องขายหุ้นออกมาและถือเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนใหม่ในเวลานี้ จำเป็นที่จะต้องโฟกัสไปยังหุ้นขนาดใหญ่ (SET50) ที่ยังปรับตัวขึ้นได้น้อยกว่าตลาดในรอบนี้และเป็นหุ้นที่ยังคงคำแนะนำให้ “ซื้อ”ในเชิงพื้นฐาน (เรียงตามลำดับความ Laggard) ได้แก่ TISCO (ให้ราคาเป้าหมาย102บาท), PTTEP (เป้าหมาย144บาท), TMB (เป้าหมาย2.60บาท), CPALL (เป้าหมาย 101บาท), TOP (เป้าหมาย101บาท), BBL (เป้าหมาย220บาท) และ TU (เป้าหมาย 18 บาท)

 

บล.เอเซีย พลัส เชื่อว่าแรงขับเคลื่อน SET Index ยังจะมาจากนักลงทุนในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีผลทำให้ช่วงการปรับตัวขึ้นมีจำกัด โดยระดับ 1700 – 1710 จุด จะเป็นแนวต้านที่แข็งแกร่ง กลยุทธ์ในช่วงนี้ยังเน้นหุ้นที่คาดหมายว่าจะจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลโดดเด่น เลือก KKP และ SIRI

ฝ่ายวิจัยได้ศึกษา Yield Curve ของไทยเทียบกับสหรัฐมีประเด็นที่น่าสนใจ 2 เรื่องคือ 1) Yield Curve ของสหรัฐฯ ยกสูงกว่าของไทย เกือบทั้งเส้น สะท้อนให้เห็นถึงส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนที่ยังมีอยู่ค่อนข้างกว้าง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าทิศทางการไหลของเงินลงทุนยังน่าจะมุ่งหน้าไปสู่สหรัฐฯ มากกว่าที่จะไหลเข้าสู่ไทย

ประการที่ 2) รูปร่างของ Yield Curve มีความแตกต่างกัน โดยในส่วนของสหรัฐฯ ค่อนข้างจะแบนราบ ซึ่งหมายความว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวกับระยะสั้นมีความแตกต่างกันน้อยมาก ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ปกติและสะท้อนว่านักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจในระยะยาวนับเป็นสัญญาณเชิงลบ แต่สำหรับรูปร่างของ Yield Curve ไทยถือว่าอยู่ในภาวะปกติ กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงกว่าระยะสั้นอย่างชัดเจน หากเชื่อมโยงภาพดังกล่าวเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยยังน่าจะอยู่ภาวะที่ขาดแรงขับเคลื่อนจาก Fund Flow ซึ่งจะทำให้ขอบเขตในการปรับตัวขึ้นไปของ SET lndex น่าจะมีอยู่อย่างจำกัดโดยบริเวณ 1700 – 1710 จุด จะเป็นแนวต้านที่แข็งแกร่ง

ระยะสั้นสงครามการค้าดูจะผ่อนคลายลง ภายหลังสหรัฐและยุโรปมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการค้าและมาตรการภาษี กล่าวคือ สหรัฐจะลดภาษีนำเข้าในสินค้าอุตสาหกรรมจากยุโรป ขณะที่ยุโรปจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าถั่วเหลืองและก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังคงเข้มข้น โดยการขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่  2 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านเหรียญฯ จะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ แต่สิ่งที่ตลาดฯ กังวลมากกว่า คือการที่สหรัฐจะดำเนินการเพิ่มกลุ่มสินค้าที่จะตั้งกำแพงภาษีจีนรอบใหม่ เป็นมูลค่าสูงมากถึง 5 แสนล้านเหรียญ แม้ในทางปฏิบัติยังต้องผ่านขั้นตอนและการอนุมัติจากสภา คองเกรส แต่ก็น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับภาวะการลงทุนได้อีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น หากจีนตอบโต้ด้วยมาตรการอื่น นอกเหนือไปจากการขึ้นภาษี จะยิ่งสร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ในภาวะที่ SET lndex มีโอกาสพักตัวบริเวณ 1,700 จุด กลยุทธ์การลงทุนจึงให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนที่ชัดเจน โดยการเลือกหุ้นที่มี Dividend Yield สูง และมีการจ่ายปันผลระหว่างกาล

โดยที่ส่วนใหญ่จะประกาศช่วงเดือน สิงหาคม สัปดาห์นี้เลือก SIRI ([email protected]) มีปัจจัยหนุนจากผลประกอบการเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ 2Q61 ก่อนจะโดดเด่นสุดในช่วง 2H61 จากแผนเปิดตัวโครงการแนวราบใหม่ที่มากขึ้น และกำหนดโอนฯ คอนโดฯ ใหม่ ทั้งยังคาดหวัง Div Yield ได้สูงถึง 7.1% และ KKP (FV@B90) จุดเด่นอยู่ที่ Div Yield สูงถึง 8% ขณะแรงขับเคลื่อนหลักมาจากธุรกิจ ธ.พ. ตามการเติบโตของสินเชื่อทะเบียนรถ และธุรกรรม lB คาดกำไรสุทธิปี 2561 เติบโต 13.2% yoy 

 

บล.บัวหลวง  ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารประกาศออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด เราคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อ เนื่องจาก 1) ค่าความผันผวนของตลาดปรับลดลงในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาและแบบจำลองของเราคาดการณ์ว่าค่าความผันผวนดังกล่าวจะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในช่วงสองสัปดาห์ข้างหน้า

2) ดัชนี Volume Flow ฟื้นตัวจากแดน Oversold แล้ว 3) ดัชนี Bull2Bear ทั้งระยะสั้นและระยะกลางดีดตัวกลับจากระดับกรอบล่าง ชี้ว่าภาวะตลาดกระทิงกำลังแข็งแกร่งขึ้น 4) ดัชนีชี้วัดโมเมนตัมระยะสั้น (Short-term Momentum Strength Index) กลับมามีโมเมนตัมและคาดว่าจะเคลื่อนเข้าสู่แดนบวกภายในต้นเดือนสิงหาคมดังนั้นเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งหลังจากกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป หุ้นที่เพิ่มเข้าพอร์ต: BCPG, PTTGC, SAWAD, TOP 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button