สงครามที่อยากให้เกิด
ไม่อยากเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว เพราะนี่คือสงครามเศรษฐกิจที่อยากให้เกิดมานานแล้ว และเป็นสงครามที่ไม่มีคนเสียหาย ยกเว้นผู้ที่แพ้ในเกมเท่านั้น
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ไม่อยากเชื่อ แต่ก็เป็นไปแล้ว เพราะนี่คือสงครามเศรษฐกิจที่อยากให้เกิดมานานแล้ว และเป็นสงครามที่ไม่มีคนเสียหาย ยกเว้นผู้ที่แพ้ในเกมเท่านั้น
เรียกว่า ไม่อยากคิดเลยว่าทีมงานของโดนัลด์ ทรัมป์ จะคิดนวัตกรรมขึ้นมาได้ เพราะนับตั้งแต่อิทธิพลของนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาการอย่าง W.W. Rostow ผ่านไปแล้ว เราได้แต่เห็นสหรัฐฯ ส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า “ระเบียบโลกใหม่” หรือ “โลกาภิวัตน์” หรือ “ฉันทามติวอชิงตัน” หรือ “การปกป้องทางการค้าด้วยมาตรการฝ่ายเดียว” มาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา
เมื่อวานนี้ สหรัฐฯ ประกาศจับมือกับญี่ปุ่น และออสเตรเลียสร้างกองทุนสนับสนุนบริษัทของทั้งสามชาติเพื่อเข้าไปแข่งขันในการยื่นเสนอ หรือประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์สำหรับงานทางด้านสาธารณูปโภคในเขตอินโด-แปซิฟิกที่มีขอบเขตกว้างขวางมากตั้งแต่เอเชียตะวันออกจนถึงแอฟริกาตะวันออก
การลงทุนจับมือดังกล่าวแม้จะไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ถือว่าเป็นการสร้างแกนต้านจีน “Anti-China Entente” ที่มีความหมายมาก
นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ต่อเนื่องมาถึงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการลงทุนภาคเอกชนที่ต่ำกว่าอดีตยุครุ่งเรือง ทำให้เกิดแรงกดดัน บีบให้หลายประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตะวันออก ต้องระดมเปิดตัวเมกะโปรเจกต์ เพื่อใช้โครงการสาธารณูปโภคเหล่านี้กระตุ้นการใช้จ่าย และรักษาอัตราการเติบโต โดยที่รัฐเป็นตัวการขับเคลื่อนหลัก
ผลของความจำเป็นดังกล่าว ทำให้นอกจากมีการเร่งเปลี่ยนแปลงทางการเมืองรวมศูนย์อำนาจรัฐ ในบางชาติที่มีโครงสร้างทางสังคมเปราะบาง เพื่อกระชับการตัดสินใจ ชนิด “ประชาธิปไตยรอก่อน การเติบโตมาก่อน”
โดยข้อเท็จจริง นับแต่วิกฤติการเงินเอเชียปี 2540 โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ในชาติเหล่านี้ ถูกเลื่อน ยกเลิก หรือพับเก็บ ด้วยเหตุหลัก 2 ประการคือ 1) ขาดเงินงบประมาณ เพราะหนี้ท่วม 2) ความไว้วางใจเรื่องการฉ้อฉลที่มาพร้อมกับโครงการตกต่ำรุนแรง
การชะลอหรือระงับโครงการไม่ได้แก้ปัญหา แต่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ไม่ว่างานด้านกระแสไฟฟ้า บริการน้ำประปา บำบัดน้ำเสีย ทางด่วน สะพาน และระบบราง การจัดการสนามบิน การบริหารพลังงาน และฯลฯ
นักลงทุนต่างชาติอยากจะเข้าร่วมโครงการเหล่านี้หรือไม่ คำตอบคือยากมีแน่นอน แต่บรรยากาศการลงทุนยังไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งคอร์รัปชัน ระบบตุลาการที่เลื่อนลอยไร้หลัก และโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพต่ำ ที่ร่วมกันทำร้ายชื่อเสียงของประเทศเหล่านี้มานานเรื้อรัง เป็นสถานการณ์แบบเดียวกับไก่กับไข่ ยากที่จะดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ยกเว้นจีนที่มีมุมมองต่างไปเพราะเห็นว่านี่คือโอกาสสำคัญ
เอเชียคือใจกลางในการรุกคืบของจีน เมื่อภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคมีอนาคตทางเศรษฐกิจที่สดใสที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเหตุผลหยาบ ๆ ดังนี้
– เศรษฐกิจเอเชียได้รับแรงผลักดันในการขยายตัวจาก 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ จากการประเมินของธนาคาร Citi พบว่าในอนาคตจีนจะแซงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2563 หรือ 9 ปีข้างหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจอินเดียจะแซงจีนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2593 หรือ 39 ปีข้างหน้า
–โครงสร้างอายุประชากรของเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดียมีคนอยู่ในวัยทำงานจำนวนมาก ต่างจากสังคมตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป และในอนาคตระดับรายได้ส่วนบุคคลของเอเชียจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามการขยายตัวของจีดีพี ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศให้ขยายตัวและนำไปสู่การสร้างตลาดภายในของแต่ละประเทศในเอเชียให้แข็งแกร่งขึ้น
– เอเชียยังต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนช่วยรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวในอัตราที่สูง และช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชากรดีขึ้น
– ความเสี่ยงในอดีตที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและภูมิศาสตร์ทางการเมืองนั้นมีแนวโน้มจะคลี่คลายลง จากการปฏิรูปเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจร่วมกันของเอเชียทำให้ผลประโยชน์ของเอเชียจะผนึกกัน
โดยสรุปเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้มากกว่าในอดีตจากปัจจัยพื้นฐาน
ข้อมูลหลายปีก่อน ที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง (ยกเว้นตัวเลขเค้กผลประโยชน์ที่มากขึ้น) ของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่า ในอนาคตภูมิภาคนี้จะไม่ขาดแคลนโครงการขนาดยักษ์ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย (ไม่รวมจีน) จำเป็นต้องใช้เงินกว่า 2-5 ล้านล้านดอลลาร์ใน 5 ปี สำหรับถนน ไฟฟ้า ประปา และการสื่อสาร โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ถือเป็นโอกาสทองด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคที่หอมหวาน
ประเด็นสำคัญคือโอกาสทองในการเข้าลงทุนสาธารณูปโภค คือการเพิ่มอำนาจและอิทธิพลเหนือประเทศเจ้าบ้านโดยปริยาย ตัวอย่างมากมายนี้ ทำให้ข้อตกลงร่วมสามฝ่ายวานนี้ ระบุว่าการร่วมมือสร้างแผนการลงทุนร่วมจะกินปริมณฑลไม่ใช่แค่พื้นที่ปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจยุทธศาสตร์อย่าง พลังงาน ขนส่ง ท่องเที่ยว และสาธาณูปโภคอื่น ๆ
สงครามแย่งชิ้นเค้กผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลอย่างนี้ ควรจะเร่งเกิดเร็วไป ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะดีสำหรับประเทศเจ้าบ้านด้วย เนื่องจากเชื่อมั่นว่าทั้งสามประเทศนี้แม้อยากจะเอาชนะจีนมาก แต่พฤติกรรมการลงทุนจะถูกข้อจำกัดด้านธรรมาภิบาลควบคุมอยู่ มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า “ปฏิบัติกินใต้โต๊ะ” น่าจะต่ำกว่าจีน (แม้จีนจะได้เปรียบเรื่องมีธนาคารเพื่อการลงทุนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานแห่งเอเชีย) และเงื่อนไขผูกมัดน่าจะไม่โหดหินเหมือนจีน ที่มักจะมี “เจตนาซ่อนเร้น” แฝงเสมอ