“บินโลว์คอสต์” ซวยซ้ำ! กบร.หั่นเพดานค่าตั๋วเหลือ 9.4 บาทต่อกิโลฯ จับตามีผลก.ย.นี้
"บินโลว์คอสต์" ซวยซ้ำ! กบร.หั่นเพดานค่าตั๋วเหลือ 9.4 บาทต่อกิโลฯ จับตามีผลก.ย.นี้
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 พ.ค.61 ได้มอบให้ กพท. นำเรื่องกรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินในอัตราใหม่ ไปรับฟังความคิดเห็นจากทุกสายการบินก่อน และให้นำกลับมาเสนอที่ประชุม กบร. อีกครั้งภายใน 3 เดือนนั้น
ขณะนี้ กพท. ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว และได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า กรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินในอัตราใหม่ จะต้องเก็บไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) ลดลงจากเดิมที่ กบร. เคยอนุมัติไว้ว่าค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกิน 13 บาทต่อกม.
ทั้งนี้ กพท. เตรียมนำเสนอเรื่องกรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินในอัตราใหม่ ให้ที่ประชุม กบร. พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 27 ส.ค.61 หากที่ประชุมเห็นชอบ คาดว่าในเดือน ก.ย.นี้ จะสามารถออกเป็นประกาศกระทรวงคมนาคม และมีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว สายการบินที่ได้เสนอเกินราคา 9.40 บาทต่อกม. ก็ต้องมายื่นขอเปลี่ยนแปลงราคาที่ กพท.
อย่างไรก็ตามกรอบเพดานใหม่นี้จะใช้กับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) เท่านั้น ส่วนสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) ยังคงใช้กรอบเพดานเดิมค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกิน 13 บาทต่อกม.
ทั้งนี้ในการรับฟังความคิดเห็นจากสายการบินต่างๆ ได้หารือถึงคำนิยามของคำว่า โลว์คอสต์ และฟูลเซอร์วิส ซึ่งสายการบินได้ขอให้กำหนดให้ชัดเจนว่าต้องมีบริการแบบใดบ้างจึงจะใช้อัตรา 13 บาทต่อกม. ได้
โดย กพท. ชี้แจงว่า สายการบินฟูลเซอร์วิส ต้องมีบริการต่างๆ ตามที่ กพท. กำหนด ทั้งโหลดกระเป๋าฟรีไม่น้อยกว่า 15 กิโลกรัม(กก.) อาหาร และเครื่องดื่ม จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ส่วนสายการบินที่ไม่มีบริการดังกล่าวถือเป็นสายการบินโลว์คอสต์ แม้ว่าสายการบินจะมีบริการน้ำดื่ม หรือขนมให้ผู้โดยสาร ก็ไม่ถือว่าเป็นฟูลเซอร์วิส
อย่างไรก็ตาม ทุกสายการบินไม่ได้ขัดข้องอะไรกับกรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินในอัตราใหม่ เพราะปัจจุบันสายการบินโลว์คอสต์คิดอัตราค่าโดยสารไม่ถึงกรอบเพดาน 9.40 บาทต่อ กม. อยู่แล้ว ส่วนใหญ่ราคาจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 บาทต่อกม.
ส่วนการคิดราคาเต็ม หรือใกล้เคียงกรอบเพดานนั้น มักจะเป็นการขายบัตรโดยสารที่ผู้โดยสารซื้อแบบกระชั้นกระชิดใกล้เวลาเดินทางเท่านั้น ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศใช้กรอบเพดานค่าโดยสารใหม่ ก็จะทำให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้จองล่วงหน้า ต้องซื้อบัตรโดยสารแบบใกล้เวลาเดินทางได้รับประโยชน์ โดยจะซื้อบัตรโดยสารในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม