SCBAMออกSCBPINลงทุนกองอสังหาฯ-รีทส์-อินฟราฯไทย-สิงคโปร์
SCBAM ออกกอง SCBPIN ลงทุนกองอสังหาฯ-รีทส์-อินฟราฯ ไทย-สิงคโปร์ ขาย 14-20 ส.ค.นี้
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (SCBPIN) เสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 14-20 ส.ค.61
โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่จดทะเบียนทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงอยู่ระหว่างการดำเนินการกระจายการถือหน่วยลงทุนหรือเปิดเสนอขายครั้งแรก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน รวมทั้งยังมีนโยบายลงทุนที่ส่งผลให้มีฐานะการลงทุนสุทธิที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่างประเทศไม่เกินร้อยละ 79 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ทั้งนี้ กองทุน SCBPIN มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ขณะที่กองทุนจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
สำหรับกองทุน SCBPIN เบื้องต้นจะลงทุนใน 2 ตลาด คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสิงคโปร์เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับระดับความผันผวน โดยดัชนี SETPREIT ของไทยเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 6.5% ความผันผวน 8.4%
ขณะที่ดัชนี FSTREI ของสิงคโปร์ มีเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ 5.5% ความผันผวน 10.4% (คำนวณจากข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี ณ มิ.ย.61) ถือเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทนสูงอยู่ในอันดับต้นๆ ของกลุ่ม REIT ทั่วโลก
อีกทั้งยังมีจุดแข็งของสินทรัพย์ที่ลงทุนมีการกระจายตัวในอุตสาหกรรมที่หลากหลายในทำเลที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะ REIT ในสิงคโปร์ที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านอสังหาริมทรัพย์สูง อาทิ ออสเตรเลีย ยุโรป
“กองทุน SCBPIN มีกระบวนการลงทุนโดยการคัดเลือกกองทุนอสังหาฯ REIT โครงสร้างพื้นฐานในตลาดไทยและสิงคโปร์ ประมาณ 100 หลักทรัพย์ ภายใต้กรอบการลงทุนคือ High Cash flow, High EPS Growth และ High Dividend Yield เพื่อมาสร้างพอร์ตการลงทุนประมาณ 20-40 หลักทรัพย์
โดยมีสัดส่วนตลาดไทย 50-70% สิงคโปร์ 30-50% คาดการณ์เงินปันผลตอบแทนก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5-6% และความผันผวนคาดการณ์ 7-8% นอกจากนี้สำหรับหน่วยลงทุนชนิดจ่ายเงินปันผล มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่เกินปีละ 12 ครั้ง”นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐานทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความได้เปรียบด้านกระแสเงินสดรับคาดการณ์ที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าตามสัญญา
รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะมีการจ่ายปันผลอย่าสม่ำเสมอ ในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ทั่วไป ตลอดจนสินทรัพย์มีลักษณะที่เป็น Inflation Hedge คืออัตราเงินปันผลที่ได้มีแนวโน้มสูงกว่าเงินเฟ้อในระยะยาว รวมถึงโอกาสการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าเช่า นอกจากนี้ยังมีโอกาสการได้กำไรจาก Capital Gain จากการปรับตัวของราคาหลักทรัพย์ คล้ายกับการลงทุนในตราสารทุน
“กองทุนนี้ถือเป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรายได้ระหว่างทางจากการลงทุน รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากมีความสัมพันธ์ต่ำกับสินทรัพย์การลงทุนประเภทอื่น”นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว