พี่น้องคารามาซอฟ(ภาคพิสดาร)

เรื่องราวที่บานปลายถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวโยงใยกับกรณีการกล่าวหาว่าหลอกลวงเงินมูลค่ากว่า 790 ล้านบาท ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Expay Group จำกัด สินทรัพย์ดิจิทัลชื่อ Dragon Coin และ บริษัทดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA จำนวน 5 คน มาพบพนักงานสอบสวน ในวันที่ 29 ส.ค. 2561 แม้ว่า 1 คนในจำนวนนี้ จะยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ ทำให้เรื่องที่ยุ่งอีนุงตุงนังอยู่แล้ว ยิ่งเข้าใจยากขึ้นไปอีก


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เรื่องราวที่บานปลายถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวโยงใยกับกรณีการกล่าวหาว่าหลอกลวงเงินมูลค่ากว่า 790 ล้านบาท ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Expay Group จำกัด สินทรัพย์ดิจิทัลชื่อ Dragon Coin และ บริษัทดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA จำนวน 5 คน มาพบพนักงานสอบสวน ในวันที่ 29 ส.ค. 2561 แม้ว่า 1 คนในจำนวนนี้ จะยังหลบหนีอยู่ต่างประเทศ ทำให้เรื่องที่ยุ่งอีนุงตุงนังอยู่แล้ว ยิ่งเข้าใจยากขึ้นไปอีก

น่าเสียดายที่ฟีโอดอร์ ดอสตอยเยฟสกี้ นักเขียนชื่อดังรัสเซียในอดีตตายไปก่อนกว่า 100 ปีแล้ว ไม่อย่างนั้นเขาคงได้บทใหม่ที่ดีกว่านวนิยายสุดยอด “พี่น้องคารามาซอฟ” หรือ Brother Karamasov ที่ยังไม่จบเป็นแน่แท้

ที่จริงแล้ว จากข่าวสารที่ปรากฏออกมา พบว่า คนทั้ง 5 ตามหมายเรียกตำรวจเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธุรกรรมที่ซ่อนเงื่อนเป็น “สีเทาแก่” ที่มีผู้เกี่ยวข้องมากมายที่ยังไม่เผยตัวออกมา จะเรียกว่าเป็น พี่น้องคารามาซอฟภาคพิสดาร ก็คงว่าได้

ดอสตอยเยฟสกี้ แบ่งคนที่เป็นตัวแทนกำพืดหลักของมนุษย์ที่อยู่ในข่ายของคนสร้างปัญหาให้โลกยุ่งเหยิงออกมาว่ามี 3 ประเภท โดยผ่านบุคลิกลักษณะและพฤติกรรมของพี่น้องคารามาซอฟทั้งสาม คือ 1) พวกโง่ที่อวดฉลาด หรือ Sensualist (มิตยา) 2) พวกฉลาดแต่ถือดีเกิน หรือ Rationalist (อีวาน) และ 3) พวกคนดีที่ลอยตัวเหนือปัญหา หรือ Spiritualist (อโลซา)

ในกรณีของคารามาซอฟภาคพิสดาร (ซึ่งดอสตอยเยฟสกี้ยังไม่สามารถชำแหละได้นี้) มีเหตุเกิดตั้งแต่ปี 2560 แล้ว แต่เรื่องมาแดงขึ้น ตอนที่นางสาว ช. (นามแฝง ของคนที่ต่อมาถูกเรียกขานว่าชื่อ นางสาวแตงโม) รับมอบอำนาจจากนายอาร์นิ โอตาวา ซาริมา (Mr.aarni Otava Saarimaa) ชาวฟินแลนด์ ซึ่งประกอบธุรกิจซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ผู้เสียหาย ได้ประสานเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายปริญญา จารวิจิต และพวกรวม 3 คน กรณีที่ได้ร่วมกันหลอกลวงเอาเงินของนายอาร์นิ ไปโดยทุจริต จำนวน 797,408,454.33 บาท เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561

แม้เรื่องจะแดง แต่ก็ยังไม่โด่งดัง เพราะคนที่เกี่ยวข้องในตอนแรก ยังไม่มีชื่อเป็นที่รู้จักกว้างขวาง จนกระทั่งถึงวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ควบคุมตัว นายจิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต หรือบูม อายุ 27 ปีเศษ นักแสดงซีรีส์วัยรุ่น ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1694/2561 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2561 คดีร่วมกันฟอกเงิน ที่หลอกลงทุนเงินสกุลดิจิทัล (บิตคอยน์) 5,564 เหรียญ คิดเป็นเงินบาท 797,408,454.33 บาท และออกหมายจับ นายปริญญา จารวิจิต พี่ชาย และ นางสาวสุพิชฌาย์ จารวิจิต พี่สาว แล้วก็มีชื่อของ ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง เข้าไปโยงใยกับธุรกรรมนี้ด้วย

จากนั้นเรื่องราวแบบดราม่าน้ำเน่าของวงการตลาดทุน ก็ถูกนำเสนอในรูปดราม่าชนิด “จริงปนเท็จ …เขาเล่าว่า (เอา 5 หาร)” บนสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์กันเอิกเกริก

ข้อมูลด้านแรกระบุว่า ขบวนการหลอกลวงได้เริ่มต้นขึ้นประมาณต้นเดือน มิถุนายน 2560 โดย นายอาร์นิ และนางสาว ช. (ซึ่งถูกระบุว่าเป็นแฟนกัน แต่ลึกซึ้งแค่ไหนไม่เปิดเผย), ได้รู้จักกับนายปริญญา จารวิจิต นาย ป. (นามแฝง) และนายปัณฯ (นามแฝง) ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นนักธุรกิจ โดยทั้ง 3 คนได้ชักชวนให้นายอาร์นิ และนางสาว ช. มาร่วมลงทุน

จากนั้น นายอาร์นิ (ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าพ่อบิตคอยน์) ได้ติดต่อผ่านนายปริญญา ผ่านเครือข่ายออนไลน์ กระทั่งมีการนัดหมายพูดคุยเจรจาธุรกิจกัน โดยมีนายปริญญา นาย ป. และนาย ณ. ได้นำเสนอธุรกิจหลากหลายรูปแบบให้นายอาร์นิ พิจารณา

ต่อมานายอาร์นิ ได้มาพูดคุยเจรจาธุรกิจกันอีกครั้งที่บริษัทหลักทรัพย์ อ. โดยฝ่ายนายปริญญา กับพวกรวม 6 คน (ใช้นามแฝงทั้งสิ้นว่า นาย ป., นาย ณ., นาย ช., นาย ธ.และนายปัณฯ) ต่างได้พูดชักจูงให้นายอาร์นิ ร่วมลงทุนในบริษัท Expay Group และ NX Chain Inc. ซึ่งมีนาย ช. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ

ผลลัพธ์ต่อมาคือ นาย ช. และนายปริญญา ได้ชักชวนให้นายอาร์นิ ซื้อหุ้นบริษัท Expay Group โดยอ้างว่าจะมีบริษัท NX Chain มาถือหุ้น บริษัท Expay ร้อยละ 51 ในลักษณะการแลกเปลี่ยนหุ้นกัน นายอาร์นิ และนางสาว ช. จะได้รับหุ้นบริษัท Expay จำกัด 25 เปอร์เซ็นต์ แต่จะต้องจ่ายค่าหุ้นเป็นเหรียญบิตคอยน์ จำนวน 1,250 เหรียญ

ดีลดังกล่าวถือเป็นดีลแรก ก่อนจะตามมาด้วยการลงทุนของนายอาร์นิใน Dragon Coin ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ข่าวระบุว่าจะไปลงทุนในกาสิโน (ไม่รู้ว่าซื้อหุ้นธุรกิจทำกาสิโน หรือลงทุนในบ่อนกาสิโนโดยตรง) และหุ้นบริษัท DNA

เรื่องราวย่อดังกล่าว ต่อมาจะกลายเป็นคดีกล่าวหาหลอกลวง เข้าข่าย “กินในที่ลับ เผยในที่แจ้ง” ที่ยากจะตรวจสอบว่าใครถูกหรือผิดกันแน่ จนกว่าคดีความจะจบเรื่อง หรือสามารถ “เกี้ยเซี้ย” กันได้

ยังไม่ทันที่ขบวนการยุติธรรมจะเริ่มขึ้น คนหน้าบางอย่าง ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ก็เร่งร้อนรนขอเข้าพบ พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รองผู้บังคับการกองปราบปราม (รองผบก.ป.) เจ้าของสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่เกิดขึ้น และลนลานออกให้สัมภาษณ์สื่อบางฉบับว่า ขอยืนยันบริสุทธิ์ล้านเปอร์เซ็นต์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโกงบิตคอยน์ 800 ล้านบาท

โดยประเด็นเรื่องความบริสุทธิ์หรือถูกผิด ต้องการข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ ไม่ใช่แค่คำยืนยัน แต่การเปิดเผยเบาะแสความสัมพันธ์ระหว่างตัวดร.ประสิทธิ์ กับคนอื่นในกรณีนี้ ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นมากกว่าคำตอบ และเรื่องราวซับซ้อนมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก เพราะมีการพูดถึงการก่อตั้งบริษัท “ไว โฮลดิ้งส์” ร่วมกัน ก่อนถูกไล่ออกมา

ข้อมูลของ ดร.ประสิทธิ์ ระบุว่า ส่วนตัวเริ่มรู้จักกับนายปริญญาจากการไปเรียนเรื่องบล็อกเชนที่สิงคโปร์ช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 และนายปริญญาแนะนำให้รู้จักนายอาร์นิ โอตาวา ซาริมา และแฟนคนไทยชื่อคุณแตงโม ซึ่งนายอาร์นิมีความเก่งและคุณแตงโมมีความละเอียดและดูเรื่องการเงิน

ส่วนนายปริญญา เป็นผู้กว้างขวางด้านบิตคอยน์ในมาเก๊า ฮ่องกง และเกาหลีใต้ จึงซักชวนกันมาทำบริษัท ไว โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป เพื่อทำธุรกิจบิตคอยน์ โดยเฉพาะ โดยมีการทำหลาย ๆ บิตคอยน์ ก่อนจะมาทำเงินดิจิทัลในชื่อดราก้อน คอยน์ (Dragon Coin (DRG) โดยตนเองเป็นคนทำเรื่องเอกสาร นายอาร์นี่ ทำเรื่องบิตคอยน์ และนายปริญญาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด และมีคอนเน็กชั่นมาก

ต่อมาภายหลังตนเองพบว่านายปริญญามีการทำงานแบบไม่โปร่งใส จึงมีการบอกกล่าว แต่นายปริญญาบอกว่าหากไม่พอใจก็ให้ตนเองออกไป ตนเองจึงลาออกจากบริษัท ไว โฮลดิ้ง กรุ๊ป และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 2560 ซึ่งต่อมาทราบว่าภายหลังว่านายอาร์นิ และแตงโมก็ถูกนายปริญญาไล่ออกมาเช่นกัน

ข้อมูลที่ย้อนแย้งกันของข้อกล่าวหาและแก้ต่าง ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องได้ ยังมีข้อมูลเสริมอีกว่า มีการทวงหนี้กัน โดยผู้ยิ่งใหญ่บางคนให้ยุ่งยากไปอีก ผิดวิสัยคนที่จะทำธุรกิจดิจิทัลยิ่ง

คำถามว่า ใครหลอกใคร ใครฟอกเงินให้ใคร และใครได้ใครเสียจากกรณีดังกล่าว หรือเป็นแค่ “ผลประโยชน์ไม่ลงตัว” ธรรมดา จึงพัวพันอลวนแยกไม่ออก

ที่น่าจับตาคือในวันที่ 29 สิงหาคม 2561เป็นต้นไป คดีที่ว่านี้ จะจบหรือบานปลายในทิศทางใด เป็นเรื่องยากจะคาดเดา

รู้แต่ว่าเรื่องนี้ไม่ปกติแน่นอน และไม่น่าจะจบด้วยดี หรือจบลงในเวลาอันรวดเร็ว

ส่วนจะมีโศกนาฏกรรมแบบพี่น้องคารามาซอฟต้นตำรับหรือไม่ ยิ่งตอบยากกว่าปกติ

Back to top button