NOK เร่งฟื้นฟูธุรกิจ จัดทำแผนเพิ่มรายได้-ลดต้นทุน หวังปลดล็อคเครื่องหมาย “C”

NOK เร่งฟื้นฟูธุรกิจจัดแผนเพิ่มรายได้-ลดต้นทุน หวังปลดล็อคเครื่องหมาย "C"


บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK แจ้งผลการประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ในการที่หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย “C” จากการที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบการเงินไตรมาส 2/61

โดยบริษัทได้จัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างรอบคอบ โดยเน้นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนการดำเนินงาน ตลอดจนจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อช่วยขยายเครือข่ายได้มากขึ้น

สำหรับแผนการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ การปรับผลิตภัณฑ์ให้มีทางเลือกมากขึ้น เช่น นกเลือกได้ , การจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะพันธมิตรธุรกิจสายการบินเท่านั้น , การเพิ่มรายได้อื่น นอกเหนือจากรายได้จากค่าโดยสาร (Ancillary revenue) และการสื่อสารให้ผู้โดยสารเกิดความเชื่อมั่นต่อบริษัท โดยเฉพาะในเรื่องของการมีเที่ยวบินที่ตรงต่อเวลา

ส่วนการลดต้นทุนในการดำเนินงานนั้น บริษัทจะปรับปรุงการบริหารงานด้านการให้บริการภาคพื้นดิน ,การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น , การลดอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยบริหารจัดการแผนการนำเครื่องขึ้น (Take off) และลงจอด (Landing) , การเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบิน โดยเพิ่มการบินในเวลากลางคืนและมีระยะทางการบินที่ยาวขึ้น ในเส้นทางบินระหว่างประเทศ ส่งผลให้อัตราการใช้เครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก 9.3 ชั่วโมง/ลำ/วัน ในเดือน มิ.ย.61 เป็น 11.2 ชั่วโมง/ลำ/วัน ในปลายปี 61  และการปรับปรุงความตรงต่อเวลาของเที่ยวบินเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้โดยสารกลับคืนมา ซึ่งในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทมีความตรงต่อเวลาอยู่ที่ร้อยละ 87.89

สำหรับทิศทางของบริษัท ในอนาคต นอกเหนือจากพันธมิตรทางธุรกิจที่มีอยู่ปัจจุบัน เช่น ไทยกรุ๊ป บริษัทยังคงจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายเพิ่มเติม รวมทั้งยังคงพิจารณาถึงการลงทุนในบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด เพื่อที่จะขยายเครือข่ายได้มากขึ้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้วนั้น มาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ สถานการณ์การแข่งขันรุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน , ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจัยภายในที่เข้ามากระทบ ได้แก่ ความตรงต่อเวลาของเที่ยวบินที่ลดลงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้โดยสาร และประสิทธิภาพของการบริหารต้นทุนในการดำเนินงาน

Back to top button