3 กลยุทธ์จีนที่ได้ผล
โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงอาการ “ปากกล้า ขาสั่น” ออกมาอีกครั้ง เมื่อประกาศว่าจีนจะไม่มีวันที่จะมีขนาดเศรษฐกิจแซงหน้าสหรัฐฯ ไปได้ด้วยวิธีการเดิม ๆ อีกต่อไป
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงอาการ “ปากกล้า ขาสั่น” ออกมาอีกครั้ง เมื่อประกาศว่าจีนจะไม่มีวันที่จะมีขนาดเศรษฐกิจแซงหน้าสหรัฐฯ ไปได้ด้วยวิธีการเดิม ๆ อีกต่อไป
คำพูดดังกล่าวบอกนัยว่าสหรัฐฯ รู้ดีแก่ใจว่าจีนกำลังเติบโตและมั่งคั่งอย่างรวดเร็วจนมีโอกาสแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ ประเด็นที่สำคัญคือ การเป็นเจ้าเทคโนโลยีเหนือโลกแบบที่สหรัฐฯ เคยดำรงฐานะนั้นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น จึงเป็นสงครามที่ชอบธรรมของสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นจีน
ประเด็นอยู่ที่ว่าความพยายามกับการบรรลุเป้าหมายอาจจะห่างไกลกันจนยากจะไปด้วยกันได้
เป้าหมายของสหรัฐฯ ดังกล่าว จีนย่อมรู้และเตรียมการไว้แล้วว่า กลยุทธ์ที่พลิกแพลงของสงครามยืดเยื้อนั้นควรรับมืออย่างไร และเมื่อใด และหากจำยอมผ่อนปรนในบางประการ อย่างการค้าที่ไม่เป็นธรรมในช่วงก่อนหน้านี้, การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ, การเปิดตลาดจีนให้สหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงอาจจะเลิกเก็บภาษีบางรายการจากสหรัฐฯ เป็นต้น
ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่สงครามการค้าเริ่มมีผลใช้บังคับจริง มีนักวิเคราะห์ทำการประมวลสรุปจากรายชื่อกลุ่มสินค้าในบัญชีรายชื่อที่จะหยิบยกมาเล่นงานกันและกัน สามารถสะท้อนกลยุทธ์ที่คาดว่าจะมีผลมากสุด
ข้อมูลพบว่า ฝั่งสหรัฐฯ เน้นรายการสินค้าจีน ที่มุ่งไปทำให้รัฐวิสาหกิจจีนเป็นผู้ผลิตใหญ่เพื่อ “เจาะยาง” เพราะจะทำให้กับดักหนี้ของจีน ที่มากกว่า 2 เท่าของจีดีพี เกิดอาการปั่นป่วน และซวนเซ จนกระทั่งมีต้นทุนสูง ลดความสามารถในการส่งออกมาตีตลาดสหรัฐฯ ขณะที่ฝั่งจีน ก็เน้นรายการสินค้าที่ผลิตจากแหล่งที่เป็นฐานคะแนนเสียงหลักของโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อให้คนที่สนับสนุนทรัมป์ตระหนักดีว่า พวกเขาสนับสนุนคนผิดเป็นผู้นำประเทศ
หากมองจากข้อเท็จจริงจากข้อมูลของสถาบันต่าง ๆ ว่า จีนนั้นกำลังมีปัญหาในเรื่องมวลหนี้ของรัฐวิสาหกิจและหนี้ภาคธุรกิจต่อจีดีพีสูงมากเข้าขั้นสุ่มเสี่ยง กลยุทธ์ของสหรัฐฯ น่าจะถูกต้อง ไม่ควรพลาดเป้า แต่นั่นไม่เป็นจริงเพราะจีนค้นพบวิธีหลบเลี่ยงความเสียหายด้วยกลไกทุนนิยมที่ทำได้ดีทีเดียว ด้วย 3 กลยุทธ์คือ
– ประคองรักษาอัตราเติบโตของจีดีพี ด้วยแรงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ที่มีขนาดตลาดผู้บริโภคใหญ่ที่สุดในโลก
– กระตุ้นให้บริษัทนวัตกรรม 10 กลุ่มเป้าหมายมีตลาดขายสินค้าในประเทศด้วยมาตรการ Made in China 2025 ให้คนจีนใช้สินค้าจากผู้ผลิตจีนที่มีคุณภาพไม่ต่างจากแบรนด์ระดับโลก
– ใช้ตลาดทุนจีนรองรับปัญหาหนี้เต็มรูป ด้วยการเร่งให้บริษัทและรัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายระดมทุนจากตลาดหุ้น และตราสารหนี้ แทนที่จะเป็นภาระของรัฐ ผลลัพธ์คือ แม้ตลาดหุ้นจีน 2 ตลาดจะเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนแย่สุดในปีนี้ แต่ตลาด IPOs กลับคึกคักอย่างมาก
3 กลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้จีนสามารถเพิ่มอำนาจต่อรองในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ได้อย่างยืดหยุ่น เพราะแม้ทรัมป์และพวกจะเล่นงานจีนได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ประเด็นหลักคือ ได้แต่หยุดยั้งจีน แต่ไม่สามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นได้
จุดอ่อนของสหรัฐฯ คือ โมเดลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นเน้นให้ “เอกชนริเริ่มและเดินนำ รัฐฯ เข้าไปดูแลและสนับสนุน ซึ่งต่างจากจีนที่ใช้รัฐชี้นำและส่งเสริม เอกชนลงมือกระทำภายใต้กรอบใหญ่ ทำให้มีความยืดหยุ่นสูงกว่า”
ความกังวลที่ว่าสงครามการค้าของสหรัฐฯ อาจจะเกิดผลลัพธ์ไม่พึงปรารถนา สะท้อนจากข้อเท็จจริงต่อไปนี้
– ผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีการแพทย์ในซิลิคอน แวลเลย์ เริ่มออกมาบ่นว่ากำลังสูญเสียตลาดให้กับสินค้าจีน (ทั้งจากปัจจัยคุณภาพและราคา) ทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐฯ ด้วย
– อาลีบาบา และ Tencent ของจีนมีมูลค่ากิจการแต่ละรายมากกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ แถมมีโอกาสแซงหน้า Facebook ได้ในเร็ว ๆ นี้ ผลลัพธ์ทำให้จีนมีตลาด online-payments ใหญ่สุดของโลก ที่บริษัทอเมริกันไม่มีส่วนร่วมเพราะสงครามการค้า
– นโยบายกีดกันผู้อพยพต่างชาติของทรัมป์ มีส่วนทำให้บุคลากรที่มีความสามารถสูงจากจีน ลดโอกาสเข้าทำงานสร้างศักยภาพในกิจการอเมริกันเหมือนในอดีต
– สงครามการค้าตัดโอกาสของยักษ์ไฮเทคอเมริกันอย่าง Alphabet, Facebook, IBM, Intel, Qualcomm and Apple ลดกิจกรรมทางการผลิต ซื้อขาย หรือลงทุน รวมทั้งการตลาดในจีนลง สูญเสียโอกาสมหาศาลในตลาดที่ใหญ่สุดของโลก
– ธนาคารกลางจีน (เจ้าหนี้รายใหม่สุด) ฉกฉวยจังหวะทิ้งการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ส่งผลต่อค่าดอลลาร์ในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ
คำประกาศชนิด “ปากกล้า ขาสั่น” ของทรัมป์ จึงไม่ได้น่ากลัวดั่งท่าทีและถ้อยคำที่พูด เพราะจีนจับทางและรับมือได้ดีกว่าโดยไม่ต้องโต้ให้เมื่อยปาก