TPLAS เตรียมตั้งอันเดอร์ไรท์-เคาะราคา IPO จันทร์นี้ พร้อมลุยเทรด mai ภายในปี 61
TPLAS เตรียมตั้งอันเดอร์ไรท์-เคาะราคา IPO จันทร์นี้ พร้อมลุยเทรด mai ภายในปี 61
นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมที่จะสรุปราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 70 ล้านหุ้น และคาดว่าจะเปิดให้จองซื้อหุ้นได้ในช่วงต้นเดือนก.ย. ก่อนจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปีนี้
โดยบริษัทมีแผนจะระดมทุนเพื่อนำเงินมาใช้ขยายอาคารโรงงานใหม่ พร้อมติดตั้งเครื่องจักรใหม่สำหรับการผลิต ผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติก และปรับปรุงอาคารโรงงานเดิม และสำนักงานของบริษัท เพื่อเป็นการรองรับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากถุงพลาสติก
“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ทำให้บริษัทมีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้ดีขึ้น และเปลี่ยนมุมมองธุรกิจซึ่งแตกต่างไปจากการเป็นบริษัทนอกตลาดฯ ประกอบกับมีระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพจากสำนักงาน ก.ล.ต.เข้ามา จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตแบบยั่งยืนได้ในอนาคต” นายธีระชัย กล่าว
โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเน้นการบริหารแบบระมัดระวัง (conservative) จากประสบการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 40 โดยการลงทุนต่าง ๆ ในอดีตที่ผ่านมาใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้สถาบันการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ อัตราดอกเบี้ย MLR ที่ -1% และการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เพียง 10 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีแผนการควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับต่ำที่ราว 0.4-0.5 เท่า จากการใช้กระแสเงินสดเป็นหลัก
ขณะที่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai จะทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และมีแหล่งเงินทุนหลากหลายมากขึ้น แม้ว่าการขยายธุรกิจหรือการรุกตลาดใหม่ ๆ จะต้องมีขั้นตอนมากขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วบริษัทมองว่าได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เนื่องจากอุตสาหกรรมตลาดถุงพลาสติกเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่และยังมีความต้องการสูงเนื่องจากเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แม้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาตลาดมีการเติบโตลดลงจากสภาพเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก
ปัจจุบันมูลค่าตลาดถุงพลาสติกทรงตัวอยู่ในระดับ 1 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมตลาดค่อนข้างทรุดตัวลงจากสินค้าคงค้าง (stock) ล้นตลาด ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าคงค้างราว 200 ตัน จากปกติ 100 ตัน ซึ่งถือว่ามีระดับต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ ที่มีสินค้าคงค้างกว่า 1-2 พันตัน โดยบริษัทเน้นแนวทางการบริหารที่ไม่ก่อให้เกิดสินค้าคงค้างซึ่งทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อตลาดกลับสู่สภาวะปกติสินค้าคงค้างของบริษัทจะกลับสู่ระดับ 100 ตัน ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์
นอกจากนี้บริษัทมีจุดเด่นด้านความมั่นคงของกิจการ และการเติบโตของรายได้แบบมีนัยยะ ประกอบกับบริษัทเน้นการขายให้กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ค้าส่งรายย่อยโดยตรง แม้มีขั้นตอนการดำเนินการที่มากกว่า แต่สามารถทำอัตรากำไร ได้ดีกว่าคู่แข่งจากมีฐานข้อมูลลูกค้าเดิมแล้ว โดยปัจจุบันบริษัทมีฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 1 หมื่นราย ซึ่งมีบัญชีที่มีความเคลื่อนไหว (active) ราว 4-5 พันราย ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ใน 5 อันดับแรก
โดยบริษัทยังเน้นควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าที่จำหน่ายไม่มีการผสมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลแม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงกว่า 10% ขณะที่การรักษาคุณภาพสินค้าในตลาดยังไม่เข้มข้นมากนัก ซึ่งทำให้บริษัทมีโอกาสที่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้สูงกว่าตลาดตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันบริษัทมีการผลิตเพื่อขายภายในประเทศเพียงอย่างเดียวและใช้วัตถุดิบจากคู่ค้าในประเทศ โดยมองว่าการนำเข้าวัตถุดิบยังไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เนื่องจากมีการเก็บภาษีนำเข้า 5% ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น
TPLAS มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 100 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 200 ล้านหุ้น โดยมี ครอบครัวธีระรุจินนท์ ถือหุ้นทั้ง 100% โดยหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้จะทำให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 135 ล้านบาท หรือคิดเป็น 270 ล้านหุ้น ขณะที่ครอบครัวธีระรุจินนท์ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO สัดส่วนหุ้นจะลดลงเหลือ 74.19%
อนึ่ง บริษัทจะมีการลงนามสัญญาจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ โดยมีนายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เออีซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน แกนนำในการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ร่วมด้วย บล.เคทีซิมิโก้ (ประเทศไทย) ผู้ร่วมจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย, บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) และ บล.คันทรีกรุ๊ปในวันจันทร์ที่ 27 ส.ค.61 ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย