CENTEL เด้งแรง 5% คาดเก็งกำไรหลังหุ้นเป็นขาลงมานานกว่า 7 เดือน
CENTEL เด้งแรง 5% คาดเก็งกำไรหลังหุ้นเป็นขาลงมานานกว่า 7 เดือน โดย ณ เวลา 12.28 น. ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 39.50 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 5.33% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 261.73 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ณ เวลา 12.28 น. อยู่ที่ระดับ 39.50 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 5.33% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 261.73 ล้านบาท คาดราคาหุ้นดีดกลับหลังเป็นขาลงมานาน 7 เดือนโดยนับตั้งแต่หุ้นอ่อนตัวลงจากระดับ 58.50 บาท เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2561
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีปัจจัยหนุนจากการจัดงานไทยแลนด์โฟกัส ปลายสัปดาห์นี้ อาจช่วยให้เม็ดเงินต่างชาติคึกคักขึ้น หลักทรัพย์ที่ปรับตัวลงมากคือ CENTEL และ KCE ส่วน TRUE ปรับขึ้นดี ด้านผู้ซื้อสุทธิรายเดียวคือ นักลงทุนทั่วไป 0.8 พันล้านบาท สถาบัน 0.6 พันล้านบาท และบัญชีหลักทรัพย์ 0.1 พันล้านบาท และผู้ขายสุทธิรายเดียวคือ ต่างประเทศ 1.5 พันล้านบาท
ด้านนายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตได้ 7-8% แม้ว่าครึ่งปีแรกจะทำรายได้เติบโตได้ตามเป้าหมายแล้ว แต่เนื่องจากครึ่งปีหลังคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มกลางทะเล ที่จ. ภูเก็ต ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลง หรือลดลงราว 0.9% ขณะเดียวกันในไตรมาส 3/61 ยังเป็นช่วงของโลว์ซีซั่นของธุรกิจ โดยสัดส่วนการเติบโตในครึ่งปีแรกน่าจะดีกว่าครึ่งปีหลังนี้ หรือคิดเป็นสัดส่วน 55:45
ทั้งนี้บริษัทได้มีการปรับลดเป้ารายได้เฉลี่ยต่อห้องพักต่อคืน (Rev par) ในปีนี้เหลือโตเพียง 2-3% จากเดิมคาดโต 3-4% ขณะที่ครึ่งปีแรกรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักต่อคืนเป็นบวกอยู่ที่ 2.1% โดยคาดอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีน่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 82-83% ซึ่งครึ่งปีแรกมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 83.6% อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาดูในช่วงต้นไตรมาส 4/61 ว่านักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากฟื้นตัวดีขันก็น่าจะส่งผลทำให้อัตราการเข้าพักปรับตัวดีขึ้นได้
สำหรับธุรกิจอาหาร คาดว่าปีนี้ยอดขายต่อสาขาเดิม (SSS) น่าจะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน หรือเติบโตประมาณ 1% จากปีก่อนติดลบอยู่ที่ 0.9% โดยครึ่งปีแรกยอดขายต่อสาขาเดิม ติดลบ 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ติดลบ 3.9% และยอดขายสาขาโดยรวม (TSS) ครึ่งปีแรกเติบโต 9% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคเกษตรกรที่ปรับตัวลงไปอย่างมาก จากปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในระดับต่ำ
ขณะเดียวกันก็มีบางร้านอาหาร เช่น KFC ที่สามารถทำยอดขายได้ดี จากการออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยในครึ่งปีหลังนี้บริษัทฯ มีแผนขยายสาขาร้านอาหารโดยรวมเพิ่มเป็น 950 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ 908 สาขา
นอกจากนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) กับพันธมิตรธุรกิจร้านอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวน 2-3 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปีนี้อย่างน้อยจำนวน 1 ราย ซึ่งบริษัทฯได้ปรับเพิ่มงบลงทุนในปีนี้เพิ่มเป็นราว 3 พันล้านบาท จากเดิมที่วางงบลงทุนไว้ที่ 2.4 พันล้านบาท เพื่อรองรับการเข้าซื้อกิจการธุรกิจร้านอาหาร
นายรนชิต กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 3 ปี (61-63) ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ปี 62 จำนวน 8.4-8.5 พันล้านบาท และปี 63 จำนวน 7.5 พันล้านบาท โดยจะเป็นงบลงทุนในธุรกิจโรงแรม 1.25 หมื่นล้านบาท และที่เหลือจะเป็นธุรกิจอาหาร ซึ่งในธุรกิจโรงแรมจะเป็นการลงทุนปรับปรุงโรงแรม โดยปีหน้าจะปิดปรับปรุงโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และการลงทุนก่อสร้างโครงการใหม่ๆ เช่น โครงการโรงแรมในมัลดีฟส์ มูลค่า 150-160 ล้านเหรียญฯ ,โรงแรม COSI พัทยา จำนวน 580-590 ล้านบาท, โรงแรม COSI เชียงใหม่ จำนวน 230-240 ล้านบาท เป็นต้น
อีกทั้งล่าสุดบริษัทฯ ยังเข้าลงทุนโรงแรมร่วมกับพันธมิตรในประเทศดูไบ โดยจะพัฒนาโรงแรมร่วมกัน มูลค่าเริ่มต้น 2.9 พันล้านบาท บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 40% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 63
ปัจจุบัน บริษัทมีแบรนด์ธุรกิจอาหารจำนวนทั้งสิ้น 11 แบรนด์ และมีโรงแรมที่เข้าไปบริหารจำนวน 21 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมของบริษัทฯ จำนวน 17 แห่ง โดยจะอยู่ในประเทศไทย 15 แห่ง และมัลดีฟส์ 2