พาราสาวะถี
เคาะกันแล้วแต่คนยังสับสนสรุปเอาไงกันแน่ กรณี คสช.คลายล็อกให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรม 6 ด้าน โดยที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวหลังการประชุม ครม.ว่า ข้อเสนอที่ วิษณุ เครืองาม ชงมานั้นในที่ประชุมเพียงแค่หารือกัน จะมีการคลายล็อกก็ต่อเมื่อร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ได้รับโปรดเกล้าฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเท่านั้น
อรชุน
เคาะกันแล้วแต่คนยังสับสนสรุปเอาไงกันแน่ กรณี คสช.คลายล็อกให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรม 6 ด้าน โดยที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวหลังการประชุม ครม.ว่า ข้อเสนอที่ วิษณุ เครืองาม ชงมานั้นในที่ประชุมเพียงแค่หารือกัน จะมีการคลายล็อกก็ต่อเมื่อร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ได้รับโปรดเกล้าฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเท่านั้น
แต่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับพูดไปอีกทาง โดยระบุว่าจะมีคำสั่งออกมาภายใน 1-2 วันนี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายทั้งสองฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าเป็นอย่างที่พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ว่าจริง ภายในวันนี้เราก็จะได้เห็นคำสั่งดังกล่าวประกาศใช้ และจะได้เห็นรายละเอียดทั้งหมดของการอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแหล่งข่าวของ คสช.ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. สิ่งที่ได้รับตรงกันคือ การคลายล็อกดังกล่าว จะมีเงื่อนเวลาอยู่ระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคมนี้ โดยมีรายละเอียดของเนื้อหาที่จะออกเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ประกอบด้วย เรื่องของทุนประเดิม 1 ล้านบาทใน 180 วันตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ ซึ่งพรรคการเมืองทำไม่ทัน และจะครบกำหนดวันที่ 1 เมษายนปีหน้า ให้แก้เป็นนับจากคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้
ประเด็นว่าด้วยพรรคการเมืองต้องมีสมาชิก 500 คนภายใน 6 เดือน ให้แก้เป็นหลังจากคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ กรณีต้องมีสมาชิก 5,000 คนใน 1 ปี และ 1 หมื่นคนใน 4 ปี ให้แก้เป็น 180 วัน และ 4 ปี นับจากคำสั่งนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนที่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่สำคัญคือ คำสั่งในการคลายล็อกให้ทำกิจกรรมได้ใน 90 วันตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม 2562
โดยสิ่งที่สามารถทำได้ ได้แก่ ประชุมใหญ่แก้ข้อบังคับได้ เลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค ประชุมพรรคเพื่อก่อม็อบไม่ได้ แต่ประชุมเพื่อเปิดสาขาพรรค หรือจัดตั้งตัวแทนพรรคได้ หาสมาชิกพรรคได้ พรรคจัดให้มีกรรมการสรรหาได้ เพื่อสรรหาคนมาลงเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำไพรมารีโหวต แต่จะมีการปรับแก้ให้ เพื่อให้พรรคเล็กสามารถดำเนินการได้
สิ่งที่ กกต.ดำเนินการได้เลยคือ หารือกับพรรคการเมืองเพื่อแบ่งเขต การแบ่งเขตใช้ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย เมื่อเดือนมกราคม 2561 โดยให้ กกต.หารือกับพรรคการเมืองว่าพอใจหรือไม่ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ คสช.อาจจะลืมไป สามารถขอ คสช.ให้อนุญาตได้ แต่ห้ามหาเสียง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการร้องขอทำกิจกรรมจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งได้รับอนุญาตและไม่อนุญาต
ในส่วนของไพรมารีโหวตจะเป็นการทำแบบย่อ หรือความจริงก็คือการเว้นการทำไพรมารีโหวตนั่นเอง ด้วย คสช.ให้เหตุผลว่าบางพรรคไม่มีสาขา จึงเปลี่ยนใหม่ให้ตั้งกรรมการสรรหา และออกไปสรรหานำชื่อที่คนสมัครมาเสนอกรรมการบริหารพรรค ถ้าได้ข้อสรุปถือว่าเป็นไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ สำหรับไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบให้ทำในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เมื่อรัฐบาลชุดนี้เลิกแล้ว อาจจะ 4 ปีหรือยุบสภา หรือผ่านการแก้ไขของรัฐสภา แต่การเลือกตั้งครั้งแรกให้ทำไพรมารีโหวตแบบย่อตามที่กำหนด
ส่วนค่าบำรุงพรรคเดิมที่ให้จัดเก็บ 100 บาทใน 3 ปี มีบางพรรคบอกว่าทำไม่ได้ จึงเปลี่ยนเป็นไม่ถึง 100 บาทได้แต่ไม่ต่ำกว่า 50 บาท บางพรรคอาจจะเก็บมากกว่านี้ได้ เช่น อาจจะเก็บ 500 บาท แต่ให้เขียนในข้อบังคับพรรคว่าค่าสมาชิกพรรค ให้มีการรับสมาชิกโดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ได้ เพื่อเป็นหลักฐานในการสมัคร
สำหรับกรรมการสรรหาคนมาเลือกตั้งนั้นต้องมีจำนวน 11 คน เพื่อจะไปหาคนมาเลือกตั้งแทนไพรมารีโหวตได้ ประเด็นตรงนี้นี่แหละที่จะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะกระบวนการดังกล่าว ถือเป็นการเลี่ยงบาลีที่ไม่ต้องการให้ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดคำถามว่า กรรมการสรรหาจำนวนแค่ 11 คนนั้น จะถือเป็นตัวแทนหรือเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้หรือไม่
ปลายทางอาจจะมีคนหยิบยกประเด็นนี้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ต้องไม่ลืมว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นมาจากเนติบริกรฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ใน คสช.เองก็มี มีชัย ฤชุพันธุ์ คนร่างรัฐธรรมนูญและดูแลกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเป็นสมาชิกอยู่ รวมไปถึง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ก็เป็นที่ปรึกษากฎหมายหัวหน้า คสช.ด้วย คงไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
พอเห็นแนวทางอย่างนี้ คงไม่ต้องบอกว่าพรรคการเมืองไหนจะได้ประโยชน์หรือเป็นการอำนวยความสะดวกให้พรรคการเมืองส่วนใหญ่ เพราะพรรคเก่าโดยเฉพาะพรรคใหญ่ไม่ได้มีปัญหาต่อกระบวนการไพรมารีโหวตหรือการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายพรรคการเมืองแม้แต่น้อย ถ้าไม่ติดที่คำสั่งของ คสช. นั่นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกครหาว่า ทางออกเรื่องไพรมารีโหวตก็เพื่อพรรคของ คสช.นั่นเอง
ขณะที่ปมการไขก๊อกของ 2 รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลเพื่อไปเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐนั้น แม้จะมีการยืนยันมาจาก สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพาณิชย์หนึ่งในคนที่ถูกระบุว่าจะลาออกว่าไม่เป็นความจริง แต่เจ้าตัวก็ไม่ปฏิเสธเรื่องการทำงานทางการเมือง การบอกปัดจึงเป็นเพียงมารยาทและรักษาภาพให้กับรัฐบาล คสช.เท่านั้น ต้องรอดูวันที่มีการประชุมพลังประชารัฐ จะปรากฏชื่อเจ้าตัวเป็นเลขาธิการพรรคและ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่
ส่วนใครที่สงสัยว่าจะเป็นได้อย่างไรหากไม่ได้ลาออกจากความเป็นรัฐมนตรี ความจริงเรื่องนี้ไม่มีข้อห้ามและไม่ผิดกฎหมายใด ถ้าฟังวิษณุแจกแจงวันก่อนจะเข้าทำนองที่ว่ารัฐมนตรีทั้งคู่จะไปรับตำแหน่งทางการเมืองโดยสวมหัวโขนในตำแหน่งบริหารต่อไป และไม่จำเป็นที่จะต้องเกรงข้อครหาเรื่องความได้เปรียบทางการเมือง เพราะหากสำนึกกันแบบนั้นจริง วันนี้รัฐบาลเผด็จการคงเลิก ครม.สัญจรกันไปแล้ว แต่กลับจัดกันถี่ยิบ แม้จะปฏิเสธหรืออ้างว่าต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่คนส่วนใหญ่รู้ดีว่าเป้าหมายเพื่ออะไร