หุ้นโรงเรียนแห่งแรก

วันที่ 22 สิงหาคม 2561 บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการธุรกิจ “โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์” รวม 5 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และที่เชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนนักเรียน (ส่วนใหญ่เป็นคนไทย) ตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา (เตรียมอนุบาล) จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ยื่นไฟลิ่ง ต่อ ก.ล.ต.เพื่อระดมทุนจำนวน 260 ล้านหุ้น โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

วันที่ 22 สิงหาคม 2561 บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการธุรกิจ “โรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์” รวม 5 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และที่เชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนนักเรียน (ส่วนใหญ่เป็นคนไทย) ตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา (เตรียมอนุบาล) จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ยื่นไฟลิ่ง ต่อ ก.ล.ต.เพื่อระดมทุนจำนวน 260 ล้านหุ้น โดยมี บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ถ้าบรรลุเป้าหมาย จะเป็นหุ้นโรงเรียนแห่งแรกในตลาด

คำถามคือ ก.ล.ต.และ ตลท.ควรรับอนุมัติหุ้นโรงเรียนนี้หรือไม่

ในหลักการและข้อกฎหมายปัจจุบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 39/2559 เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ด้วยแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ระบุไว้ในข้อกำหนดว่า ไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับธุรกิจที่จะเข้าจดทะเบียน เพียงแต่ต้องให้พิจารณาว่าธุรกิจต้องมีคุณสมบัติครบ (หรือไม่มีข้อต้องห้าม) ดังนี้

ไม่ขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ

ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม

ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม ภายใต้เงื่อนไข ประกาศที่ 39/2559

ดูตามนี้ ระบุชัดว่า เงื่อนไขโดยรวมเปิดช่องให้ แต่สำหรับกติกาแบบไทย ๆ นั้น ต้องมีรายละเอียดอื่นประกอบด้วย

ในหมวด 1 ส่วนที่ 1 ข้อ 12 ของประกาศที่ 39/2559 ระบุว่า บริษัทที่จะขออนุญาตระดมทุนต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม (เช่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจครอบงำ เคยหรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบ ถูกกล่าวโทษ หรือดำเนินคดีจาก ก.ล.ต.หรือหน่วยงานรัฐอื่น) ต้องจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ต้องไม่มีการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้น รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจนตามที่กำหนด

หากลงลึกในรายละเอียดน่าจะเป็นตามที่นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. บอกว่า กรณีนี้ก็เหมือนการรับบริษัทจดทะเบียนทั่วไป จะเข้าได้หรือไม่ได้ จะมีคณะทำงานพิจารณาว่า ธุรกิจนี้ระดมทุนได้ ต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีธรรมาภิบาล และมีการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์

เว้นเสียแต่จะยกเอาเรื่องอื่น ๆ ที่ไร้สาระ เช่นบอกว่า การที่หลักสูตรสิงคโปร์นี่ ทำให้นักเรียนต้องแข่งกันตั้งแต่สองขวบครึ่ง เพราะโรงเรียนในเครือ SISB เน้นวิชาการจริง ๆ (..เรียนโหด) และทางเข้าออกโรงเรียน (โดยเฉพาะที่ประชาอุทิศ) มีรถติดชนิด “แม่ร้องไห้หนักมาก” (รถติดโหด).. ก็คงเป็นอีกเรื่อง

คำถามอีกประเด็นคือ การเข้าตลาดหุ้น จะทำให้โรงเรียนละเมิดกติกาว่าด้วยค่าเล่าเรียนมหาโหดตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน 2550 หรือไม่

คำตอบน่าจะอยู่ที่รายละเอียดมากกว่าแค่คาดเดา เพราะตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน เพียงแต่ระบุว่า โรงเรียนที่เป็นนิติบุคคล (บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน หรือห้างหุ้นส่วน) จะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นไทยเกิน 50% และจำนวนผู้ถือหุ้นต้องเป็นไทยเกิน 50% และมีที่ดินชัดเจน ทั้งที่ถือครองเองหรือเช่าระยะยาว

นอกจากนั้น มาตรา 32 ระบุว่า คณะกรรมการบริหารโรงเรียนต้องมีหน้าที่กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ค่าตอบแทนครูที่สมควรกับความรู้ และค่าใช้จ่ายอื่นรวมถึงการขยายกิจการและผลตอบแทน โดยที่ผลตอบแทนจะต้องไม่เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ซึ่งมี รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน) กำหนด

ในมาตรา 33 มีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกว่า ในกรณีที่คณะกรรมการที่กระทรวงศึกษาพิจารณาเห็นว่า การกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นมีลักษณะค้ากำไรเกินควร หรือผู้บริหารไม่สามารถแสดงได้ว่ามิได้เป็นการค้ากำไรเกินควร คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนก็สามารถมีอำนาจสั่งให้ลดได้ตามที่เห็นสมควร หรือถ้าคณะกรรมการฯ ไม่ทำ กระทรวงศึกษาธิการก็สามารถสั่งการโดยตรงข้ามหัวคณะกรรมการฯ ได้ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่สมควร ที่กำหนดไว้ในมาตรา 34

ข้อกฎหมายข้างต้น เท่ากับยอมรับว่า การทำโรงเรียนเอกชน เป็นธุรกิจได้ มีกำไรได้ และมีขาดทุน (ถึงขั้นถูกสั่งปิดได้ ซึ่งก็มีระบุในหมวดท้าย ๆ ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว) แต่กำไรที่เกิดขึ้น จะมากเกินสมควรหรือไม่ เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการที่กำกับดูแล

ค่าธรรมเนียมการศึกษาโรงเรียนและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่แพงลิ่วระดับมหาโหด (ระหว่าง 4-8 แสนบาท/คน/ปี หรือเฉลี่ย 6 แสนบาท/คน/ปี) ของโรงเรียนนานาชาติทั้งหลาย ที่บรรดาผู้ปกครองไทยจำนวนมากสมยอมจ่ายตาม “จริตแห่งยุคสมัย” (จนมีคำถามว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการจ่ายเงินเพื่อเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทย แทนที่จะส่งไป “ชุบตัว” ในต่างประเทศ) จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่เคยมีรายใดถูกออกคำสั่งให้ลดลงเลย

แสดงว่า ยังมีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากยินดีแบกรับ จึงไม่ถือว่าแพงเกินถึงขั้นค้ากำไรเกินควร

เหตุผลเพราะคำว่า แพงหรือถูก อยู่ที่ใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง คนอื่นไม่เกี่ยว

SISB เป็นบริษัทหนึ่งที่โตมากับกระแสเฟื่องฟูของโรงเรียนนานาชาติในไทย (ส่วนใหญ่ 60% ของ 175 แห่งที่ดำเนินการอยู่ใน กทม.และปริมณฑล) ที่รับเอาแฟรนไชส์ต่างประเทศเป็นโมเดลธุรกิจ ซึ่งเมื่อต้นปีนี้มีการประเมินว่ามูลค่าตลาดของกลุ่มนี้น่าจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท และทำกำไรเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งกลุ่มทุนทั้งไทยและต่างชาติเตรียมทุ่มเงินก้อนโตลงทุนมากขึ้น เพราะสร้างรายได้สูงและมีค่าใช้จ่ายต่ำ โดยเน้นแฟรนไชส์หลักสูตรยอดนิยมเป็นของอังกฤษ อเมริกา ตามมาด้วยจีน (ทั้งไต้หวันและแผ่นดินใหญ่)

คำถามต่อไปคือ เรื่องที่โรงเรียน (และมหาวิทยาลัยเอกชน) ไม่ต้องเสียภาษีรายได้นิติบุคคล อาจจะถูกยกขึ้นมาถ่วงรั้งการตัดสินใจอนุมัติของ ก.ล.ต.ได้ เพราะตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนนั้น มีข้อความระบุไว้ในหมวดว่าด้วย “การอุดหนุนและการส่งเสริม” ซึ่งหาก SISB สามารถเคลียร์ได้ก็จบเรื่อง

คำถามสุดท้าย หาก ก.ล.ต.อนุมัติให้หุ้นโรงเรียนระดมทุนแล้ว จะมีผลทำให้ “จริยธรรม” ของครูที่สอนในโรงเรียนนานาชาติย่อหย่อนถึงขั้นเสื่อมทรามลงหรือไม่ เป็นคำถามที่ “หาเรื่องไร้สาระ” เพราะเหตุผล 3 ประการคือ

– หุ้นโรงพยาบาลเอกชนไม่เคยทำให้หมอมีจริยธรรมเสื่อมทรามลง แม้จะกำไรและจ่ายโบนัสโดดเด่นจากค่ารักษาพยาบาลชนิด “หูดับ” ฉันใด หุ้นโรงเรียนก็ฉันนั้น

– คำว่า จริยธรรม ในภาษาไทยนั้นกำกวมมากเกินไป แยกไม่ค่อยออกระหว่าง Ethics กับ Morality การเอ่ยคำว่าจริยธรรมต้องชัดเจนกว่านี้ ก่อนจะกล่าวหากัน

– นับแต่ปรากฏการณ์ “ครู (แก่) กินเด็กนักเรียน” หรือ “นักเรียนอึ๊บครู (แม่ปลาช่อน)” ในฝรั่งเศสของนายแอมานุแอล มาครง กับนางบรีฌิต มาครง อันโด่งดัง คำว่า “จริยธรรมของครู” ดูจะไม่ค่อยมีใครหยิบยกมาเอ่ยอ้างถึงกันมากนัก

ตอนนี้ ต้องรอเวลาให้ผู้บริหาร SISB พิสูจน์ตัวเองกับ ก.ล.ต.ที่เป็นด่านสำคัญเสียก่อน

หวังแต่ว่า จะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยกรณี “เตะหมูเข้าปากหมา” แบบไทยเบฟฯ ที่ทำเอาต้องเสียผู้จัดการตลาด “หน้าบาง” อย่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เพราะพวก “จริยธรรมสูงจัด” ต่อต้านอีกครั้ง

Back to top button