เด็กดีล่าสุดของ IMF

อาร์เจนตินา กลับมาเกิดวิกฤตอีกครั้ง แต่วิกฤตครั้งนี้ต่างจากครั้งอดีตตรงที่ไม่ได้เกิดจาก 2 ปัจจัยซ้ำซาก (เดินหลงทางก่อหนี้-ประชานิยมสุดโต่ง) แต่เกิดจากการทำตัวเป็น “เด็กดีของ IMF”


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

อาร์เจนตินา กลับมาเกิดวิกฤตอีกครั้ง แต่วิกฤตครั้งนี้ต่างจากครั้งอดีตตรงที่ไม่ได้เกิดจาก 2 ปัจจัยซ้ำซาก (เดินหลงทางก่อหนี้-ประชานิยมสุดโต่ง) แต่เกิดจากการทำตัวเป็น “เด็กดีของ IMF”

พฤหัสบดีที่ผ่านมา วิกฤตการเงินในอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในลาตินอเมริกา กลับมาอีกครั้ง เมื่อธนาคารกลางอาร์เจนตินาประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 15% สู่ระดับ 60% จากเดิมที่ระดับ 45% โดยอ้างว่า เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และชะลอการดิ่งลงของค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา

ข้ออ้างอย่างหลังฟังไม่ขึ้น ดังนั้นวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าเงินเปโซดิ่งลง 15% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 39 เทียบกับดอลลาร์ แต่ปีนี้ (นับจากปลายปีก่อน) เปโซร่วงลงมากว่า 45% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาและเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น 25.4%

คิดดูง่าย ๆ หากดอกเบี้ยนโยบายยังสูงขนาดนี้ อย่าได้คิดหรือถามถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดของระบบธนาคาร จะน่าสยดสยองอยู่ที่เท่าใด และอัตราดอกเบี้ยนอกระบบจะอยู่ที่เท่าใด

นอกจากนี้ ธนาคารกลางอาร์เจนตินายังได้ประกาศปรับเพิ่มเงินทุนสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ต้องฝากไว้ที่ธนาคารกลางในการคุมเข้มนโยบายการคลัง และพยุงค่าเงินเปโซ และประธานาธิบดีมากรี ได้เรียกร้องให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เร่งการเบิกจ่ายเงินกู้วงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ที่มีการอนุมัติต้นปีนี้ เพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินในประเทศ

ทางด้าน IMF ออกแถลงการณ์ระบุว่า จะพิจารณาทบทวนแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลอาร์เจนตินา โดยจะพุ่งเป้าไปที่การดำเนินมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้อาร์เจนตินาได้รับผลกระทบจากภาวะไร้เสถียรภาพในตลาดการเงินโลก รวมทั้งมีแผนที่จะใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้นด้านการเงินและการคลังต่ออาร์เจนตินา

ท่าทีของ IMF ยังคงเป็นท่าทีเดิมที่ไม่แยแสกับชะตากรรมของผู้คนในประเทศลูกหนี้ นอกเหนือจาก “หลักกู” เรื่องเสถียรภาพทางการเงิน

ต้นปีนี้ รัฐบาลอาร์เจนตินาได้หันไป “จูบปากคืนดี” ด้วยการบรรลุข้อตกลงเงินกู้กับ IMF ครั้งใหม่ หลังจากที่รู้ตัวว่าจะต้องเข้า “มอบตัวสยบยอม” ครั้งใหม่ ด้วยการยอมรับเงื่อนไขที่จะต้องทำตามข้อเรียกร้องของ IMF ทุกข้อ แม้ว่าจะต้องทำให้คนในประเทศเดือดร้อนบ้าง ในฐานะ “ลีโอเนล เมสซี่” ไม่ใช่ “ดิเอโก มาราโดนา” เมื่อ 17 ปีก่อน ที่รัฐบาลอาร์เจนตินาครั้งนั้น ประกาศขอพักชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 141,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เฉพาะหนี้ของ IMF เป็นมูลค่าถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของอาร์เจนตินา เดดัวโด ดูฮาลเด้ ได้ขึ้นมาแทนและได้ประกาศลดค่าเงินเปโซ 30% และให้แปลงเงินฝากสกุลดอลลาร์ให้เป็นเปโซทั้งหมด ส่งผลทำให้ธุรกิจที่มีหนี้สินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐล้มละลายทันทีเป็นจำนวนมาก GDP ลดลงถึง 11% ในช่วงเกิดวิกฤตในช่วงปี ค.ศ. 1999-2002 ซึ่งมีค่า GNP ติดลบติดต่อกัน 4 ปี ซึ่งเศรษฐกิจเข้าขั้นล้มละลาย คนตกงานกว่าครึ่งค่อนประเทศ

การยอมรับเงื่อนไขของ IMF ทำให้รัฐบาลอาร์เจนตินาของนายมากรี จำต้องเลือกทำตามข้อเรียกร้องที่ฝืนธรรมชาติด้วยการรับเอาการสร้างงบประมาณสมดุล เพื่อแลกกับเงินกู้ของ IMF แทนการควบคุมเงินเฟ้อ

หลายปีมาแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลนางคริสติน่า เคิร์ชเนอร์ รัฐบาลอาร์เจนตินามีงบประมาณขาดดุลเรื้อรังจากนโยบายการอุดหนุนราคาสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงานในประเทศ รัฐบาลนายมากรีจึงเดินแนวทางใหม่ชนิดยูเทิร์น 180 องศา ตามคำแนะนำแบบไม่เป็นทางการของ IMF ยกเลิกนโยบายอุดหนุนดังกล่าว เพื่อทำให้งบประมาณกลับมาสมดุล ทำให้ต้นทุนสินค้าโดยรวมเฟ้อขึ้นอย่างรวดเร็ว

มาตรการหวังผลในระยะยาว แต่มองข้ามระยะสั้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อพุ่งทะยาน และค่าเงินที่ถดถอยเพราะฟันด์โฟลว์ไหลออก เพราะไม่มีใครอยากถือเงินเปโซของอาร์เจนตินา เพราะยิ่งถือยิ่งด้อยค่าลง จึงเลือกที่จะหันไปถืออย่างอื่น เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่า

วิกฤตรอบใหม่ของอาร์เจนตินา เตือนสติพวกที่ชอบโจมตี “ประชานิยม” ของฮวน-เอบิต้า เปรอง ในช่วงปี ค.ศ. 1930 และคาร์ลอส เมเนม ในช่วง ค.ศ. 1990 ว่าเป็นหลุมดำทางนโยบายไปสู่หายนะ เพราะว่าท้ายที่สุด การเดินตามก้น IMF อย่างไร้สติปัญญาก็พาไปสู่หายนะที่เลวร้ายได้ไม่แพ้กัน

การพยายามยกเลิก “ประชานิยมสุดขั้ว” ที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐบาลในปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมาอย่างจริงจัง แม้จะมีข้อดีตรงที่ทำให้อาร์เจนตินาพ้นจากภาวะล้มละลาย มาเป็นชาติที่เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 7.1% จนถึง ค.ศ. 2011 อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในปี ค.ศ. 2002 เพิ่มเป็น 73% ใน ค.ศ. 2013 ก่อนจะกลับมาลุ่ม ๆ ดอน ๆ ใหม่นับแต่ ค.ศ. 2014 ถึงปีก่อนที่อัตราเติบโตของ GNP เหลือแค่ 1-2.5% เท่านั้น

การเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อหันหลังให้กับ “ประชานิยม” อาจจะดูดี (โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้มากว่า ๆ แสนล้านดอลลาร์ได้แล้ว) แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐาน 2 เรื่อง ได้เลยคือ 1) ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่คน 3% ของประเทศรวยล้นฟ้า อาศัยอยู่ใน “วิมานรั้วเหล็ก” (gated communities) และคน 97% อาศัยอยู่ใน “วิมานยาจก” (villa miseries) 2) ภาวะเงินเฟ้อเรื้อรัง ในรอบ 15 ปีนี้ ไม่เคยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางต่ำกว่า 10.5% เลย (อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์สำหรับลูกค้าชั้นดีอยู่ระหว่าง 17-20%) และคำแนะนำของ IMF ยิ่งกระตุ้นให้เงินเฟ้อเลวร้ายมากขึ้นสู่ระดับหายนะ

วิกฤตค่าเงินระลอกใหม่ที่รุนแรงนี้ ยังไม่มีใครประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานแค่ไหน เพราะอัตราการว่างงานตามที่หน่วยงานรัฐระบุคือ 7% นั้น ก็มีคนเชื่อถือต่ำอยู่แล้ว เพราะรู้ดีว่ารัฐบาลแต่งตัวเลขดีเกินจริงเสมอมา

ประเด็นกะทันหันยามนี้ มีคำถามหลักว่า ถัดจากเงินเปโซของอาร์เจนตินา จะเป็นค่าเงินชาติใดที่จะร่วงสู่ระดับหายนะ คือ ค่าเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ ค่าเงินรูปีของอินเดีย และรูเปียของอินโดนีเชีย

อีกไม่นาน ก็จะรู้ว่าเด็กดีคนใหม่ในอนาคตของ IMF จะเป็นใคร

Back to top button