เจตนา & ข้อเท็จจริง
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเท่ากับตัวเลขการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนกรกฎาคม สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเท่ากับตัวเลขการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบรายเดือน
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานดีดตัวขึ้น 2.0% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด หลังจากอยู่ที่ระดับ 1.9% ติดต่อกัน 3 เดือน
ก่อนหน้านี้ ดัชนี PCE พุ่งแตะระดับเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ 2.0% ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2555
ตัวเลขดังกล่าว ถ้าไม่โกหก ก็ตอกย้ำว่า เจตนารมณ์ของ โดนัลด์ ทรัมป์และพวกในทำเนียบขาว ที่ทำการออกโรงวิพากษ์ประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล กรณีปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่เคยส่งผลให้ค่าดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าแตะต่ำสุดรอบ 2 เดือน ถึง 3 ครั้งอย่างผิดมารยาท อาจจะไร้ประโยชน์และไร้ความหมายในการหยุดยั้งดอกเบี้ยขาขึ้น
1 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งนางเยลเลน และนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในงานระดมทุนที่บ้านของนายโฮเวิร์ด ลอร์เบอร์ ประธานบริษัท ดักกลาส เอลลิแมน ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ถึงกรณีที่เฟดมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยกล่าวว่า เขาคิดว่านายพาวเวลจะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และจะไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวดจนเกินไป
ตอนที่ขึ้นมานั่งทำเนียบขาวใหม่ ๆ เมื่อต้นปีที่แล้วเขาก็เคยกระทำมาแล้ว แต่ครั้งนั้น ประธานเฟดคนก่อนคือนางเจเน็ต เยลเลนไม่เล่นด้วย ส่วนในครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา การวิพากษ์ในเดือนกรกฎาคม ทรัมป์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว CNBC ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเฟด ไม่รู้สึกยินดีต่อการทำงานของเฟด เพราะทุกครั้งที่เศรษฐกิจปรับตัวขึ้น พวกเขาก็ต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่เขาก็จะปล่อยให้พวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขามองว่าดีที่สุด แต่ไม่ชอบงานซึ่งได้กระทบต่อสิ่งที่เขาทำ
ต่อมา ทรัมป์ก็ออกมาย้ำผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวซ้ำอีกว่า แม้จะยอมรับว่า การแสดงความคิดเห็นของเขาถือเป็นสิ่งผิดปกติ แต่เขาก็ไม่สนใจ
การวิพากษ์ดังกล่าว ล้วนถือเป็นการกระทำที่สวนทางประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการทำงานของเฟด และเน้น “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” ในการกำหนดนโยบายการเงิน
ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ในทางทฤษฎี ถือกันว่าเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ (แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ เครื่องมือทางการเงินกับเครื่องมือทางการคลัง)
เครื่องมือทางการเงินก็คือการกำหนดอัตราดอกเบี้ย (ทั้งเงินฝากและเงินกู้) และปริมาณเงินที่หมุนเวียนในท้องตลาด รวมถึงเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย (กินความรวมถึงการกำกับดูแลสถาบันเงินบางประเภท) อยู่ใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลาง
ส่วนเครื่องมือทางการคลังคือการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล (ทั้งรายรับและรายจ่าย) และขับเคลื่อนการเติบโตของประชาชาติมวลรวม
แม้ว่าในทางกฎหมาย รัฐบาลจะมีอำนาจ ในการกำหนดทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง แต่ในทางปฏิบัติ มักจะโยนประเด็นเรื่องการกำหนดนโยบายทางการเงินให้กับผู้บริหารธนาคารกลาง เพื่อให้เสถียรภาพของตลาดเงินไม่ถูกเบี่ยงเบนไปรับใช้ผู้มีอำนาจรัฐบาลมากเกินขนาด จากรัฐบาลเผด็จการที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน อาจใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หรือดำเนินนโยบายทางการคลังที่ขาดวินัยจนเกิดปัญหา
ความเป็นอิสระของธนาคารกลางจึงมีนัยสำคัญ และเชื่อมโยงถึงว่า ดำรงอยู่เพื่อใคร
ในกรณีของเฟด ความเป็นอิสระของหน่วยงานนี้ เป็นจารีตมายาวนาน จนกระทั่งทำเนียบขาวไม่กล้าแตะต้อง เพราะเฟดมีหน้าที่ขึ้นตรงต่อรัฐสภามากกว่าทำเนียบขาว แม้ประธานาธิบดีจะเป็นคนแต่งตั้งประธานเฟดตามวาระ แต่ก็ไม่มีสิทธิแทรกแซงการตัดสินใจได้ จะทำได้มากสุดก็คือสั่งปลดประธานเฟดเท่านั้น ซึ่งภายใต้โครงสร้างที่ออกแบบทางอำนาจการเมืองไว้ทำได้ยากมาก
แม้กระทั่งยุคนี้ ความพยายามของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พยายามใช้อำนาจประธานาธิบดี ทำการ “ข้ามรูบิคอน” เพื่อสนองเจตนาแห่งอำนาจก็ไม่เคยมีการกระทำที่ “ล้ำเส้น” จากฝั่งของทรัมป์ ทำให้มีการตีความในลักษณะเมินเฉยว่าทรัมป์ทำได้แค่ “…เห่าใบตองแห้ง” เพื่อคะแนนนิยมตามปกติเท่านั้น
แม้ว่าช่วงเวลาของยุคดอกเบี้ยต่ำติดดินกำลังใกล้จะสิ้นสุดลงในสหรัฐฯ แต่การต่อสู้ระหว่างทำเนียบขาวกับเฟดเพื่อถ่วงเวลาขาขึ้นของดอกเบี้ย กลับมีผลต่อค่าดอลลาร์เทียบกับเงินสกุลอื่นที่มีความแข็งแกร่งโดยปริยาย
ค่าบาทของไทยเองก็อยู่ในข่ายไปด้วย เพราะขณะนี้ในมุมมองของกองทุนขนาดใหญ่ระดับโลก เห็นว่าตลาดหุ้นและตราสารหนี้ของไทยเหมาะจะเป็นแหล่งหลบภัยในครึ่งหลังของปีนี้ ดีกว่าหลายประเทศ ถึงขั้นที่มีการระบุว่าไทยนั้นเป็นเศรษฐกิจที่ “ลำบากน้อยที่สุด”
ที่สำคัญโอกาสที่ไทยจะมีอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างช้า ๆ ก็เป็นไปได้ชัดเจนขึ้น จากตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยล่าสุดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัว 1.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (CORE CPI) ขยายตัว 0.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 มาจากราคาพลังงานที่สูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดอาหารสด พร้อมคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 4 ปีนี้ จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.5% โดยทั้งปีคาดว่าจะเฉลี่ยที่ 1.2%
การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ในตลาดไทยตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เจตนารมณ์และข้อเท็จจริงนั้น บางครั้งไปด้วยกัน แต่บางครั้งก็แยกทางกัน