“ฐากร” ระบุชัดบอร์ดกสทช.ชี้ “DTAC ไม่ประมูล หมดสิทธิเยียวยา!” จับตาศาลนัดไต่วันนี้
"ฐากร" ระบุชัดบอร์ดกสทช.ชี้ "DTAC ไม่ประมูล หมดสิทธิเยียวยา!" จับตาศาลนัดไต่วันนี้
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนมติกสทช.เมื่อวันที่ 18 ก.ค.61 เกี่ยวเรื่องการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมย่านความถี่ 850 MHz ว่าให้บริษัทได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามประกาศมาตรการเยียวยาฯ ของกสทช.
โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัท หรือบริษัทในเครือต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่ง กสทช.กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 18 ส.ค.61 ซึ่ง DTAC และผู้ประกอบการรายอื่น ไม่ได้เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการคลื่น 850 MHz ของ DTAC ก็จะไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองและไม่สามารถใช้โครงข่ายย่านคลื่นความถี่ 850 MHz ได้ภายหลังวันที่ 15 ก.ย.61 อันเป็นวันสิ้นสุดสัมปทาน
ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันนี้ (11 ก.ย. 2561) ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนฉุกเฉิน กรณี DTAC ยื่นฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช.เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 เพื่อขอให้ลูกค้า DTAC บนคลื่นความถี่ 850 MHz ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จนกว่า กสทช. จะนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวไปจัดสรรใหม่ ซึ่งกสทช.มีความพร้อมในการให้ข้อมูลกรณีดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง
ทั้งนี้ บอร์ด กสทช.ยังไม่ได้มีมติเป็นคำสั่งทางปกครองว่าจะไม่ให้ DTAC เข้าสู่มาตรการเยียวยา แต่มติบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ระบุว่าหาก DTAC ไม่เข้าประมูลจะไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยา จึงไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจของที่ประชุม กสทช.ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ว่า DTAC ควรจะได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการเยียวยาหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ บอร์ด กสทช.ต้องถกเถียงกันคือ DTAC แจ้งว่าประสงค์จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz แต่ไม่สามารถรับเงื่อนไขการทำระบบป้องกันสัญญาณรบกวนคลื่นความถี่ได้ จึงต้องดูว่าเหตุผลนี้มีน้ำหนักพอในการขอเยียวยาหรือไม่
โดยศาลน่าจะรอมติที่ประชุม กสทช.ก่อนว่าให้ DTAC ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการหรือไม่ ซึ่งหากที่ประชุมกสทช.มีมติให้ DTAC ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการถือว่าการฟ้องต่อศาลตกไป แต่หากที่ประชุม กสทช.มีมติไม่ให้ DTAC ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ศาลต้องตัดสิน ซึ่ง กสทช.ต้องให้เหตุผลตามหลักการความเป็นจริง และตรงไปตรงมาตามประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน