ความปั่นป่วนคือจังหวะซื้อ
เมื่อวานนี้ ต่างชาติที่ขายน้อยลงสัปดาห์ก่อน กลับมาขายสุทธิรุนแรงในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ทำให้แรงช้อนของรายย่อยเปล่าประโยชน์
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวานนี้ ต่างชาติที่ขายน้อยลงสัปดาห์ก่อน กลับมาขายสุทธิรุนแรงในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ทำให้แรงช้อนของรายย่อยเปล่าประโยชน์
แม้นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะกังวลในประเด็นการอ่อนค่าของเงินสกุลในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ แต่ก็มีประสบการณ์มากพอที่ไม่ได้ให้น้ำหนัก หลังจากที่คาดว่าจะมีผลกระทบไม่มากนักเพราะขนาดเศรษฐกิจไม่ได้ใหญ่ แต่การขายระลอกใหม่ของนักลงทุนต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์ ก็ไม่ใช่ข่าวดี เพราะยังส่งสัญญาณว่า มีทิศทางเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย แม้จะไม่ไหลไปไกล
การอ้างถึงความไม่แน่นอนกรณีสงครามการค้าสหรัฐฯ-คู่ค้าทั้งจีนและญี่ปุ่น รวมถึงตลาดคาดเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบกันยายนนี้ (ซึ่งความจริงเป็นคนละด้านของเหรียญเท่านั้น) เป็นปัจจัยที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้กับแรงขายก็จริง แต่ก็เป็น “อารมณ์ตลาด” ที่ยากจะปฏิเสธได้
โดยข้อเท็จจริงการเทขายวานนี้ น่าจะเป็นเพราะตลาดฯ ยังขาดปัจจัยบวกใหม่ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส่งผลต่อภาพรวมให้ถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศมากเกินจำเป็น
ราคาหุ้น PTT ใต้ 49.00 บาท และ AOT ที่ 62.00 บาท ถูกเกินไปที่จะบอกว่าสมเหตุสมผล แต่ก็เป็นไปแล้ว
ความวุ่นวายจากการเกิดวิกฤตหลายอย่างพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่ครั้งแรกของตลาดหุ้นไทย ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2556 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในยุคของ เบน เบอร์แนนคี ได้เริ่มต้นการปรับทิศกลับสู่ทิศทางการเงินแบบปกติ (tapering) ด้วยการยกเลิกมาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่มีปัญหาเศรษฐกิจและเสี่ยงต่อภาวะทุนไหลออก
ปัจจุบัน ปัญหากำลังกลับมาใหม่ ซึ่งตลาดเงินเรียกกลุ่มเสี่ยงนี้ว่า Fragile 5 ซึ่งประกอบด้วย ตุรกี อินเดีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ซึ่งมีปัญหาการควบคุมการเติบโตทางเศรษฐกิจหย่อนยานจนเกิดภาวะร้อนแรงเกินขนาด หรือ overheat economy
ครั้งนี้ บังเอิญประจวบเหมาะกับเฟดถูกแรงกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายพอดี กลายเป็นตัวแปรใหม่ สร้างแรงกระเพื่อมในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง และในครั้งนี้ก็มีทั้งหน้าเก่า และหน้าใหม่หลายรายที่กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง และอาจต้องลงมือทำอะไรมากกว่าแค่ขึ้นดอกเบี้ยหรือแสดงวาทกรรมการเมืองเอาตัวรอดไปวัน ๆ
แล้วหนึ่งในตัวอย่างกลุ่มเสี่ยงที่โผล่มาชัดเจนมากที่สุดในครั้งนี้ เพราะเผชิญปัญหาค่าเงินเปโซอ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปี ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งทะลุ 30% แม้รัฐบาลอาร์เจนตินาจะดำเนินมาตรการไปแล้วหลายอย่างเพื่อพยุงค่าเงินเปโซไม่ให้ดิ่งจนถึงก้นเหว ตั้งแต่การขึ้นดอกเบี้ยหลายระลอกจากระดับ 28.75% เมื่อเดือน พ.ย. 2017 มาสู่ 60% ในปัจจุบัน การเข้าแทรกแซงของธนาคารกลาง และการผ่อนปรนเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ทั้งหมดนี้กลับไม่ช่วยให้ค่าเงินเปโซหยุดภาวะเลือดไหลลงได้ ตลอดทั้งปี 2018 เปโซอ่อนค่ารวมไปเกือบ 50% แล้ว
ล่าสุด รัฐบาลอาร์เจนตินางัดมาตรการใหม่ที่ “หักดิบ” (ตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) คือ ใช้ให้น้อยลง และหาเงินเข้ากระเป๋าให้มากขึ้น ด้วยการประกาศยุบจำนวนกระทรวงต่าง ๆ ลงถึงครึ่งหนึ่ง และขึ้นภาษีส่งออกสินค้าเกษตรในกลุ่มธัญพืชแทน ซึ่งมีคำถามว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
สำหรับตุรกี ซึ่งเคยประกาศแข็งกร้าวว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นการสมคบคิดของชาติตะวันตกใช้สงครามเศรษฐกิจ เล่นงานนั้น ก็ยอมรับความจริง เริ่มหันมาปรับใช้กลไกทางการเงินรับมือวิกฤตค่าเงินลีราเช่นเดียวกัน หลังจากที่สถานการณ์ทรง ๆ ทรุด ๆ มาตลอด ทำให้ธนาคารกลางตุรกีส่งสัญญาณเมื่อวันที่ 3 ก.ย. ว่า ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 13 ก.ย.นี้ อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อหนักหน่วงขึ้น หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค. ขยายตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปี อยู่ที่ 17.9%
สำหรับอินโดนีเซีย ซึ่งค่าเงินรูเปียอ่อนค่ายวบยาบลงมากที่สุดในรอบ 20 ปีนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งนั้น ก็เตรียมที่จะออกมาตรการใหม่โดยใช้กลไกสวอปมาเป็นส่วนหนึ่งช่วยพยุงวิกฤตค่าเงิน รวมทั้งออกมาตรการควบคุมการนำเข้า จับตาป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินอย่างใกล้ชิด และเร่งประเมินโครงการลงทุนของรัฐเพื่อคำนวณเรื่องเงินดอลลาร์ควบคู่กันไปด้วย
มาตรการของชาติเกิดใหม่ที่กระทำดังกล่าว อาจจะไม่สามารถยุติวิกฤตการณ์ค่าเงินตลาดเกิดใหม่ได้อย่างสิ้นเชิง หรือทำได้เพียงแค่บรรเทาสถานการณ์ แต่ก็ถือว่า “ตีนติดดิน” มากเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจะไม่เกิดการแผ่ขยายวิกฤตมากกว่านี้ได้ หรือช่วยจำกัดความเสียหายได้
สถานการณ์เหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่เหลือบ่ากว่าแรง ดังนั้นหากตั้งสติกันได้ นี่คือจังหวะและโอกาส “ซื้อของถูก” ระลอกใหม่เท่านั้น
โอกาสแบบนี้ไม่บ่อยนัก