ความท้าทายของ WTO
สื่อเกี่ยวกับหุ้นทั่วโลกพาดหัวทำนองเดียวกันวานนี้ว่า ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าอ่อนตัวลง เหตุจีนเตรียมขอการอนุมัติจากองค์การการค้าโลก (WTO) ในสัปดาห์หน้าเพื่อทำการคว่ำบาตรสหรัฐฯ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศที่ลุกลามออกไป
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
สื่อเกี่ยวกับหุ้นทั่วโลกพาดหัวทำนองเดียวกันวานนี้ว่า ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าอ่อนตัวลง เหตุจีนเตรียมขอการอนุมัติจากองค์การการค้าโลก (WTO) ในสัปดาห์หน้าเพื่อทำการคว่ำบาตรสหรัฐฯ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศที่ลุกลามออกไป
ประเด็นที่สื่อลืมพูดหรือให้ความสำคัญต่ำไปคืออนาคตของ WTO ที่อาจล่มสลายได้
คำร้องของจีนระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO กรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดจากจีน ซึ่งจีนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ WTO ในปี 2556 เพื่อขอให้ WTO พิจารณาอนุมัติคำร้องของตนที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์
ตามระเบียบวาระการประชุมของ WTO ระบุว่า จีนจะขออำนาจในการคว่ำบาตรสหรัฐฯ ในการประชุมคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ WTO ในวันที่ 21 กันยายนนี้ ซึ่งก็มีการรับบรรจุในวาระเรียบร้อยแล้ว
จีนร้องเรียนต่อ WTO ว่า สหรัฐฯ ได้ฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลกในอดีต ในกรณีปัญหาความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับภาษีป้องกันการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ
คำร้องล่าสุดของจีนคงจะนำไปสู่คดีการต่อสู้ทางด้านกฎหมายที่ต้องใช้เวลานานหลายปี ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตรประเทศใดประเทศหนึ่ง
เรื่องนี้ มีมุมให้พิจารณาหลายด้าน ด้านแรกคำร้องของจีนมีขึ้นในช่วงที่ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศความพร้อมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนที่มีมูลค่าเพิ่มอีก 267,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าเขา “ต้องการทำเช่นนั้น”
คำร้องของจีน คือการเติมเชื้อไฟให้กับสงครามการค้าที่เข้มข้นขึ้น เพราะในมุมกลับ ถ้าทรัมป์ตัดสินใจทำตามคำขู่ของตน มันจะซ้ำเติมภาษีที่สหรัฐฯ กำลังจะเริ่มเก็บจากสินค้าจีนในหลายหมวดอุตสาหกรรม รวมทั้งสินค้าเทคโนโลยีที่มีมูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้บีบบังคับให้จีนประกาศความพร้อมที่จะตอบโต้สหรัฐฯ ทันที
อีกด้านหนึ่งพิสูจน์ว่าหลักการของ WTO จะเป็นไปตามหลักไม่เลือกปฏิบัติแค่ไหน
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 จีนได้ร้องเรียนต่อ WTO คัดค้านประเด็นภาษีป้องกันการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บจากสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภท รวมทั้งเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุตสาหกรรมเบา โลหะ และสินแร่ต่าง ๆ ที่มีมูลค่าส่งออกรวมกันปีละ 8,400 ล้านดอลลาร์
คำร้องเดิมครั้งนั้น จีนคัดค้านวิธีที่สหรัฐฯ ใช้ในการคำนวณมูลค่าของภาษีป้องกันการทุ่มตลาด ซึ่งสหรัฐฯ เคยชี้แจงว่า หมายถึงการที่จีนตั้งราคาสินค้าของตนให้ถูกกว่าของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งต่อมามีการระบุว่า วิธีการคำนวณมูลค่าภาษีป้องกันการทุ่มตลาดของสหรัฐฯ ได้เคยถูกคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ WTO ตัดสินว่าผิดกฎข้อบังคับขององค์กรแห่งนี้
การยื่นคำร้องของจีนจึงมีแต้มต่อมากพอสมควรในการสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้กับสหรัฐฯ ซึ่งถ้า WTO มีความเห็นโน้มเอียงไปทางจีน อาจจะสบช่องเป็นโอกาสที่สหรัฐฯ อาจแสดงพลังนักเลงโตได้ไม่ยาก เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ได้ขู่ WTO ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากองค์กรของโลกแห่งนี้ ถ้าฝ่ายหลังไม่ “ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น”
คำเตือนของทรัมป์มีขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการตัดสินข้อพิพาทของ WTO ได้พิจารณาคำร้องของจีนที่กล่าวหาสหรัฐฯ ว่าได้เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจีนมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ ในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับกฎข้อบังคับขององค์กรแห่งนี้
หากสหรัฐฯ ถอนตัวจริง โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรยากจะคาดเดา แต่ที่แน่ ๆ คือระเบียบโลกที่สร้างมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองจะไม่มีอีกบางส่วน
WTO เป็นองค์การนานาชาติสังกัดองค์การสหประชาชาติ (UN) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงทางด้านการค้าระหว่างชาติ เป็นเวทีสำหรับการเจรจาต่อรอง ตกลงและขจัดข้อขัดแย้งในเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ทางการค้าและการบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยดัดแปลงมาจากข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากรระหว่างประเทศ หรือ GATT เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิก 164 ประเทศและดินแดน
ภารกิจของ WTO จะทำหน้าที่ดูแลข้อตกลงย่อย 3 ข้อตกลง คือ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (General Agreement on Tariff and Trade; GATT) ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้, ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services; GATS) และความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของการค้า (The agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights; TRIPS) แต่ที่เป็นแกนสำคัญคือ คณะกรรมการว่าด้วยการระงับข้อพิพาทระหว่างชาติสมาชิก (dispute settlement)
ให้จีนทำเรื่องฟ้องร้องสหรัฐฯ
คำถามมีว่า ถ้าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนหลักก่อตั้ง GATT และ WTO ทำการ “ล้มโต๊ะ” WTO เสียเอง อะไรจะเกิดขึ้น คำตอบสั้น ๆ ยามนี้คือ คงดูไม่จืดอีกนาน