พาราสาวะถีอรชุน

เป็นไปตามคาดหลังจากไปร่วมบายศรีสู่ขวัญ 7 นักศึกษากลุ่มดาวดินพร้อมประกาศจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มชาวบ้านที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ก็ได้รับโทรศัพท์จากทหารขอพูดคุยกับแกนนำ 4-5 คน แต่ชาวบ้านปฏิเสธหากจะคุยก็ต้องคุยกันทั้งหมดให้ชาวบ้านได้รับรู้ร่วมกัน


เป็นไปตามคาดหลังจากไปร่วมบายศรีสู่ขวัญ 7 นักศึกษากลุ่มดาวดินพร้อมประกาศจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มชาวบ้านที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ก็ได้รับโทรศัพท์จากทหารขอพูดคุยกับแกนนำ 4-5 คน แต่ชาวบ้านปฏิเสธหากจะคุยก็ต้องคุยกันทั้งหมดให้ชาวบ้านได้รับรู้ร่วมกัน

เมื่อเป็นเช่นนั้น พันเอกอำนวย จุลโนนยาง รองผู้บังคับการทหารบกจังหวัดเลย จึงนำกำลังพร้อมตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าไปพบชาวบ้าน โดยเรื่องแรกแจ้งข่าวดีก่อนกรณีทำประปาหมู่บ้าน ก่อนจะตามมาด้วยยาขม โดยบอกว่าแม้ปัจจุบันรัฐจะยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ก็ยังคงมีมาตรา 44 ที่ห้ามไม่ให้ประชาชนชุมนุมทางการเมือง

พร้อมอธิบายต่อไปว่าการเดินทางมาร่วมงานบายศรีสู่ขวัญรับขวัญประชาธิปไตยและร่วมอ่านคำประกาศขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ของพี่น้องกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง นอกจากนั้น ยังห้ามไม่ให้ชาวบ้านเดินทางมาร่วมงานที่เตรียมจะจัดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ด้วย

เห็นปรากฏการณ์นี้แล้ว ทำให้นึกถึงบทความของ ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จาก University of Wisconsin-Madison และ Tyrell Haberkorn อาจารย์สอนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมจาก Australian National University ในเรื่อง รัฐบาลทหารไทยกับการพูดอย่างทำอย่าง โดยมีเนื้อหาบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจ ที่ขออนุญาตมานำเสนอ

ทั้งคู่มองว่า ในช่วงปีแรกหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. รัฐบาลทหารไทยสั่งเรียกตัวบุคคลอย่างน้อย 751 คน ทั้งที่เป็นปัญญาชน แกนนำการเมือง และผู้ที่ถูกรัฐบาลทหารมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม บุคคลเหล่านี้ถูกควบคุมตัว สอบปากคำ ข่มขู่ หรือตักเตือนให้ยุติการต่อต้านรัฐประหาร มีบางส่วนถูกตั้งข้อหาในเวลาต่อมา แต่ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากเซ็นชื่อในหนังสือ สัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารอีก

รัฐบาลทหารบอกกับคนไทยว่าการเรียกตัวบุคคลเหล่านี้ มีจุดประสงค์เพื่อ“ปรับทัศนคติ” มีการขัดขวางหรือยกเลิกการประชุมทางวิชาการและสาธารณะในประเด็นการเมือง หรืออย่างน้อยมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยสอดส่องข้อมูล รวมทั้งการฟ้องคดีนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยแทบไม่คำนึงถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมาย การแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้นทั่วประเทศ สร้างผลกระทบอย่างมากต่อที่ดินและการดำรงชีวิตของพลเมืองในชนบท พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นการ“สมานฉันท์”

นอกจากนั้น ยังมีคำว่า “ปฏิรูป” เป็นอีกคำหนึ่งที่รัฐบาลนี้ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผ่านคำสั่งของรัฐบาลทหารหรือตามที่กำหนดไว้ในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่แทนที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงการหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไป 30 ปี ทั้งในแง่พัฒนาการของประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ และบทบาทของทหารกับการเมือง

พวกเขาผลักดันการ “ปฏิรูป” แบบนี้ภายใต้คำขวัญ “เดินหน้าประเทศไทย” “คืนความสุขให้คนในชาติ” แม้จะมีข่าวการกดขี่ปราบปราม ความอยุติธรรมและข่าวร้ายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับคสช.การสมานฉันท์หมายถึงการขจัดความขัดแย้งทางสังคมหรือการเมืองในภายนอก การปรับทัศนคติหมายถึงการยอมรับความเห็นตามที่กำหนดโดยรัฐบาลทหารอย่างดุษฎี

ส่วนปฏิรูปหมายถึงการย้อนเวลากลับไปก่อนจะมีระบอบประชาธิปไตย การพูดอย่างทำอย่างแบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้ระบอบคสช. การพูดอย่างทำอย่างไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่หรือเกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการประท้วงของคนเสื้อแดงใจกลางกรุงเทพฯ เขาเรียกการปราบปรามครั้งนั้นว่าเป็น “การขอคืนพื้นที่”

รัฐบาลทหารตระหนักดีถึงความบกพร่องเช่นนี้ แต่ยังคงใช้วิธีพูดอย่างทำอย่างเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับผู้สนับสนุนฝ่ายตนเอง เป็นเหตุให้รัฐบาลทหารต้องหาทางจัดการกับช่องว่างระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนตนเองกับฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะประชาคมนานาชาติ ฝ่ายที่ส่งเสียงวิจารณ์ในประเทศต้องเผชิญกับการคุกคาม การจับกุมก่อนที่จะตามมาด้วยการตั้งข้อกล่าวหา

เมื่อต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กับทั้งองค์การสหประชาชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวแมนไรท์วอทช์ และรัฐบาลจากทั่วโลก รัฐบาลทหารทำได้แค่ปฏิเสธอย่างรวบรัดว่าไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เคยจำกัดเสรีภาพ และไม่เคยแทรกแซงประชาธิปไตย การปราบปรามภายในประเทศอย่างเข้มงวดพร้อมกับการเพิกเฉยต่อเสียงวิจารณ์ของประชาคมนานาชาติ ต่างมุ่งตอบสนองความต้องการที่จะกระชับและตอกย้ำความสนับสนุนในประเทศของตนเอง

แต่ในขณะที่เสียงต่อต้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการประท้วงอย่างสงบในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของรัฐประหารซึ่งนำไปสู่การจับกุมและควบคุมตัวนักศึกษากว่า 50 คน เริ่มทำให้เห็นรอยร้าวบนฉากหน้าแห่งความปกติที่รัฐบาลทหารใช้วาทศิลป์แบบพูดอย่างทำอย่างสร้างเอาไว้ แม้จะมีการปล่อยตัวนักศึกษาโดยไม่ตั้งข้อหา แต่เพิ่งมีการตั้งข้อหาในตอนนี้

การชะลอการออกหมายเรียกนักศึกษาอย่างน้อย เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 มิถุนายน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของการพูดอย่างทำอย่าง รัฐบาลทหารคงหวังว่าจะลดกระแสความไม่พึงพอใจลงได้บ้าง พวกเขาอาจหวังว่าประวัติศาสตร์การลอยนวลพ้นผิดที่ผ่านมา คงทำให้เขามีเวลาเหลือเฟือที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป

ท่ามกลางโลกที่แสวงหาประชาธิปไตย คงต้องปิดท้ายด้วยส่วนของบทความจาก ชำนาญ จันทร์เรือง ที่บอกว่า กงล้อประวัติศาสตร์การเมืองของโลกล้วนแล้วแต่หมุนไปสู่ประชาธิปไตย แม้ว่าในบางครั้งอาจจะหยุดชะงักหรือถูกทำให้ถอยหลังไปบ้างก็ตาม แต่ไม่ว่าเผด็จการทหาร เผด็จการรัฐสภา เผด็จการคอมมิวนิสต์ เผด็จการทุนนิยม ฯลฯ ต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจของประชาชนทั้งสิ้นอยู่ที่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

Back to top button