ท่าไม้ตายของแมร์เคิลพลวัต2015
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกล่า แมร์เคิล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนเยอรมันที่ชาวกรีกร่วมสมัยเกลียดชังมากที่สุด นับวันจะกุมชะตากรรมของประเทศกรีซในกำมือมากขึ้นเรื่อยๆ
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกล่า แมร์เคิล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนเยอรมันที่ชาวกรีกร่วมสมัยเกลียดชังมากที่สุด นับวันจะกุมชะตากรรมของประเทศกรีซในกำมือมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากการชะงักงันในการเจรจาปัญหาหนี้กรีซ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นเดือนนี้ จนเกือบจะถึงนาทีสุดท้าย นายอเล็กซิส ซีปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ ถึงกับซมซานของเข้าพบกับนางแมร์เคิล เพื่อประนีประนอม เท่ากับยอมตนเป็นลูกไก่ในกำมือ
ถึงเวลาคับขันเช่นนี้ นางแมร์เคิลได้แสดงให้เห็นถึงความอำมหิตแบบผู้นำชาติครั้งสำคัญ ด้วยการเสนอเงื่อนไขสุดท้ายให้นายกรัฐมนตกรีซไปทำการบ้านมาเสนอเป็นครั้งสุดท้ายภายในสัปดาห์นี้ว่า จะต้องหาทางออกให้ได้ เพราะว่าที่ผ่านมากรีซเล่นเกมแมวกับหนูกับชาติเจ้าหนี้มานานเกินไปแล้ว
ข้อเสนอของนางแมร์เคิล ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถผ่าทางตันการเจรจาได้คือ เยอรมนีอาจจะยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซอย่างน้อย 1 เงื่อนไข จากหลายเงื่อนไข ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดที่กลุ่มเจ้าหนี้จะใช้ประกอบการตัดสินใจในการให้ความช่วยเหลือกรีซ
หากพิจารณาข้อเสนอนี้คือ กรีซจะต้องยอมถอย 1 ก้าว เสียก่อน ถ้าไม่ต้องการให้การเจรจาล้มเหลว
ไม่เพียงเท่านั้น นางแมร์เคิลยังกำชับอีกว่า กรีซจะต้องพูดในเงื่อนไขของตนเอง เพราะนี่คือข้อเสนอ ”ด้วยความหวังดี” แบบส่วนตัว ด้วยความหวังดี ไม่ใช่การเจรจาที่เป็นทางการบนโต๊ะเจรจาจริง
ชั้นเชิงและลีลาแบบนางพญาอินทรีเช่นนี้ ทำให้ทางเลือกที่จะดื้อรั้นของรัฐบาลกรีซหมดไปในทันที หากไม่ต้องการให้ฐานะการคลังของประเทศล่มสลาย
ข่าวดังกล่าวที่ถูกแพร่กระจายออกไป ทำให้ตลาดหุ้นของยุโรปและสหรัฐขึ้นแรงอย่างขานรับ โดยบอกว่านี่คือสัญญาณบวก ทั้งที่ว่าไปแล้วยังไม่ถือว่าการเจรจาบรรลุแต่อย่างใด จะบอกว่าตลาดตีความเกินเลย ก็คงไม่ผิดเท่าใดนัก
สำหรับคนที่ติดตามการเจรจาของหนี้กรีซ จะเข้าใจดีว่า ข้อเสนอนางแมร์เคิล ถือเป็นเสมือนกุญแจชี้ทางเพื่อให้รัฐบาลกรีซมีทางออก เป็นปฏิบัติการที่ยิ่งกว่าอำมหิต เพราะหากพิจารณาเงื่อนไขของเจ้าหนี้ที่กรีซจะต้องยอมรับนั้น ไม่ว่าข้อไหน ก็ล้วนแต่ยากทั้งสิ้น โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า มาตรการสร้างวินัยทางการคลัง 5 ประการ ได้แก่
– โละพนักงานรัฐวิสาหกิจ 1.5 หมื่นคน
– ผ่อนคลายกติกาของกฎหมายแรงงานเสียใหม่ให้มีการจ้างงานที่มีเงื่อนไขให้นายจ้างปลดคนงานได้ง่ายขึ้น
–ลดค่าจ้างขั้นต่ำในกฎหมายลง 20% จาก 711 ยูโรต่อเดือน เหลือ 600 ยูโรต่อเดือน
– เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซในการลดหนี้
– ปรับปรุงเงื่อนไขของระบบบำนาญเจ้าหน้าที่รัฐให้ต่ำลง
หากรัฐบาลกรีซยอมรับข้อใดข้อหนึ่ง ก็มีโอกาสที่รัฐบาลชองนายกรัฐมนตรีซีปราส จะกลายเป็น “คนทรยศต่อเจตจำนงของชาวกรีก” ได้ง่ายดายมาก เท่ากับว่า ข้อเสนอด้วยความปรารถนาดีของนางแมร์เคิล คือการเดินเกม “รุกฆาต” ที่ทิ้งให้นายซีปราสเข้าสู่ “หมากตาอับ” ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที
ใครที่บอกว่านางแมร์เคิล เล่นเกม “ยื่นเงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้” ไม่เป็น คงต้องกลับไปทบทวนกันใหม่ เพราะสิ่งที่นางแมร์เคิลเสนอ คือการตอกย้ำข้อเสนอเดิมของเจ้าหนี้นั่นเอง แต่ด้วยท่วงท่าและลีลา ”จุดยืนเดิม ลีลาเปลี่ยน” เท่านั้น
ชาติเจ้าหนี้ของกรีซรู้ดีว่า ปัญหาการล่มสลายทางการคลังของกรีซนั้นเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ 1) การหนีภาษีทำให้รัฐเก็บภาษีไม่เคยเข้าเป้าทุกปี 2) การคอร์รัปชั่นจากธุรกิจนอกระบบที่มีสัดส่วนมากถึง 50% ของจีดีพี แต่ข้อเสนอของพวกเขา กลับโยนบาปไปที่พนักงานและคนกรีกที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐฯ ด้วยการตัดสวัสดิการที่หลายคนมองเห็นว่า ทำให้รายจ่ายของรัฐมากเกินความสามารถในการเก็บภาษีของรัฐบาล
แม้การลงโทษพนักงานรัฐวิสาหกิจของกรีซ ตามข้อเสนอของเจ้าหนี้ อาจจะช่วยทำให้เศรษฐกิจกรีซดีขึ้นแต่รายได้ต่อหัวของคนเหล่านั้นลดลงย่อมมีผลให้กำลังซื้อหดหายไปด้วย ทำให้ความสามารถเก็บภาษีของรัฐบาลลดลงไปอีกโดยปริยาย วนเวียนเป็นปัญหา “งูกินหาง” ไม่รู้จบ และอาจจะมีแรงโน้มเอียงทำให้คนกรีกต่อต้านสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น
คนกรีกที่มีประสบการณ์และไม่โง่งมงาย ย่อมอ่านสัญญาณจากข้อเสนอของนางแมร์เคิลได้ทันทีว่า เจตนาของนางแมร์เคิลที่ห่วงใย ไม่ใช่การที่กรีซจะอยู่ต่อไปในยูโรโซนหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า ข้อเสนอที่มีทางออกอย่างไร ถึงจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดตราสารหนี้ของโลก มีเสถียรภาพ และเป็นขาขึ้น ที่จะรองรับการฟื้นตัวของยูโรโซนที่กำลังอยู่ในจุดต่ำสุดได้เท่านั้นเอง
การขานรับของตลาดทองคำ อัตราแลกเปลี่ยน และตลาดหุ้นต่อคำชี้แนะของนางแมร์เคิล จึงบอกใบ้ให้รู้ว่า คนจ่ายต้นทุนจากหนี้รัฐบาลกรีซ หนีไม่พ้นที่จะเป็นคนกรีกเอง
ไม่น่าประหลาดเลยที่นับจากนี้ไป ความเกลียดชังของคนกรีกต่อนางแมร์เคิล จะพุ่งขึ้นสุดขีดสูงกว่าเดิมหลายเท่า