ทฤษฎีเกมย้อนศร
ท่าทีตีสองหน้าของการใช้ทฤษฎีเกมในสงครามการค้าสหรัฐฯ ที่กระทำต่อจีน มีคนรู้ทันมากขึ้นเรื่อย ว่าด้านหนึ่งท่าทีแข็งกร้าวด้วยเกม “กินรวบ” กับอีกด้านด้วยท่าที “ร่วมมือเกี้ยเซี้ย” เป็นแค่ “คนละด้านของเหรียญ” เท่านั้น อ
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ท่าทีตีสองหน้าของการใช้ทฤษฎีเกมในสงครามการค้าสหรัฐฯ ที่กระทำต่อจีน มีคนรู้ทันมากขึ้นเรื่อย ว่าด้านหนึ่งท่าทีแข็งกร้าวด้วยเกม “กินรวบ” กับอีกด้านด้วยท่าที “ร่วมมือเกี้ยเซี้ย” เป็นแค่ “คนละด้านของเหรียญ” เท่านั้น
ยิ่งเล่นเกมซับซ้อนมากเท่าใดยิ่งเห็นอาการ “หมดมุก” ของทำเนียบขาวมากขึ้นเรื่อยไป และการต่อสู้อยู่ในระดับ “ขั้นยัน” อันยาวนาน รอโอกาสให้อีกฝ่ายเปิดจุดอ่อนให้เห็นเท่านั้น
ที่ผ่านมา เป็นที่ทราบและเข้าใจกันดีว่า นักการเมืองปีกขวาจัดสายเหยี่ยวตะวันตก มักจะเลือกเอานโยบาย “สร้างสงครามเล็ก” มาเป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง เสมือนหนึ่งกำลังทำสงคราม เพื่อหาทางใช้งบประมาณ และ/หรือสร้างคะแนนนิยมเฉพาะหน้า ซึ่งจะกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐต่อเนื่อง ในขณะที่เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสังคมที่มีพลวัตสูง ต่างจากความเอื่อยเฉื่อยในช่วงสันติภาพ ที่โครงสร้างสังคมจะมีเสถียรภาพและไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ภายใต้สถานการณ์ “สงครามประดิษฐ์” ที่ทรัมป์และพวกดำเนินการอยู่ เคยมีนักเศรษฐศาสตร์ทำการศึกษาและพบว่า ระดับความเสี่ยงในการลงทุนสูงและอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นตามความเข้มข้นของสงคราม อัตราเงินเฟ้อสูงและอาจจะควบคุมไม่ค่อยได้ในภาวะสงคราม แต่มีจุดเด่นมากคือ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านกับสถานการณ์ “สงครามย่อย” ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม จะมีอัตราการขยายตัวของจีดีพี และอัตราการเกิดเพื่อวัดเสถียรภาพของสังคม (stability of society)
นอกจากนั้น ในมุมหนึ่งของสงคราม มีบางบริษัทหรือบางอุตสาหกรรมสามารถฉกฉวยโอกาสทำกำไรสูงเกินระดับปกติ จากอภิสิทธิ์หรือข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นโดยข้ออ้างของการทำสงคราม
กำไรเกินปกติของบางบริษัท มาจากสายสัมพันธ์ หรือการติดสินบนเพื่อให้นักการเมืองหรือนักการทหารตัดสินใจสนับสนุนการทำสงคราม
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ วิธีหนึ่งที่มักใช้ข้ออ้าง “พิเศษ” ในการสร้างความชอบธรรมแลกอภิสิทธิ์ดังกล่าวคือ การนำธุรกิจหรือกิจการเหล่านี้มาเป็นของรัฐเสีย โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อไม่ให้เกิดแรงจูงใจในการแสวงกำไรจากการทำสงคราม
เหตุผลดังกล่าว ละม้ายคล้ายเหตุผลของตัวละครอย่าง นางคูร์ราจ ในละครชื่อดังของแบร์โธลด์ท เบรคท์ Mother Courage and Her Children นั่นเอง
เกมที่ทรัมป์กำลังดำเนินการเพื่อรุกต่อเนื่องต่อคู่กรณีคือ ทำทีเสมือนพร้อมที่จะวัดดวงกันไปเลยว่า ใครดีใครอยู่ โดยจะไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่กันอย่างเด็ดขาด เสมือนไก่ที่ลงสังเวียนชนกัน ถ้าไม่มีคนห้ามก็คงจะต้องตายไปข้างหนึ่งแน่ ๆ แต่โดยข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น ซึ่งจีนก็รู้เท่าทันเกมอย่างดี
ประเด็นปัญหายามนี้คือ ยังหาปัจจัยและเงื่อนไขที่จะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนกลับมาเล่นเกมร่วมมือกันได้อีก การข่มขู่กันว่าจะใช้มาตรการตาต่อตาฟันต่อฟันกันอย่างไร จึงสะท้อนว่ายังไม่สามารถจับเข่าคุยกันจนได้ข้อยุติที่เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย
เกมแห่งความปรองดอง (Stag Hunt) เพราะยังแบ่งสรรปันส่วนกันไม่ลงตัว จึงยังต้องดำเนินไปอย่างน่าอึดอัด
ล่าสุด วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า ประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เตรียมประกาศตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.53 ล้านล้านบาท) โดยเร็วที่สุดภายในวันนี้ ซึ่งการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีนรอบนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หากเป็นจริงก็คงเป็นข่าวลบไปอีกหลายวัน
ในอดีตที่ผ่านมา ฝ่ายเสนาธิการของเพนตากอน มักจะใช้ทฤษฎีเกม เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญ เพื่อการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพและถ้าจะให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดคู่เจรจาต่อรองจะต้องต่างฝ่ายต่างมีข้อมูลและมีการเตรียมการอย่างดีในรูป “รู้เขารู้เรา”
กุญแจสำคัญในการใช้ทฤษฎีเกม อยู่ที่การกำหนด ความสำคัญระดับสูง-กลาง-ต่ำ (H.M.L.) ของตัวเราเองและ H.M.L. ของคู่ขัดแย้งอีกฝ่าย เพื่อเป็นพื้นฐานนำไปสู่การเจรจาเพื่อหาข้อยุติอยู่บนพื้นฐานซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
หัวใจของความสำเร็จในการใช้ทฤษฎีเกม จึงอยู่ที่การตระหนักถึง ข้อจำกัดในการเจรจาหรือขอบเขตเจรจา อาจจะหมายถึง ข้อจำกัดในเรื่องของอำนาจ หรือเงื่อนไข ที่จะทำให้การเจรจาต่อรองไม่สามารถประสบความสำเร็จ เนื่องจากเกินขีดที่เรียกว่า “ต้นทุน” ของทั้งสองฝ่าย
บังเอิญจีนก็เล่นทฤษฎีเกมเก่งไม่แพ้เพนตากอน ผลลัพธ์จึงไม่ลงเอยง่าย ๆ
ที่สำคัญนักลงทุนในตลาดหุ้นก็รู้ทันและให้ความสำคัญกับปัจจัยหรือตัวแปรอื่นมากขึ้น