GUNKUL ร่วง 3% แพนิก “เอ็นจีโอ” ฟ้องศาลฯ อ้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 60MW ผิดกฎหมาย!
GUNKUL ร่วง 3% แพนิก “เอ็นจีโอ” ฟ้องศาลฯ อ้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 60MW ผิดกฎหมาย! โบรกฯ ชี้ถูกกดดันระยะสั้น ล่าสุด ณ เวลา 10.43 น. อยู่ที่ระดับ 2.78 บาท ปรับตัวลดลง 0.08 บาท หรือ 2.80% สูงสุดที่ระดับ 2.84 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.74 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 29.13 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ล่าสุด ณ เวลา 10.43 น. อยู่ที่ระดับ 2.78 บาท ปรับตัวลดลง 0.08 บาท หรือ 2.80% สูงสุดที่ระดับ 2.84 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.74 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 29.13 ล้านบาท
ทั้งนี้ ราคาหุ้น GUNKUL ปรับตัวลดลงสวนภาวะตลาดหุ้นไทยในวันนี้ คาดว่าเกิดจากความกังวลจากประเด็นที่สมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านจาก ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด และ ต.หนองแวง อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา จำนวน 98 ราย ที่อาศัยติดกับโครงการโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์ม เดินทางเข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ บริษัทกรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด (GNP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของGUNKUL ต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม
โดยระบุว่า ว่า กกพ.ออกใบอนุญาตให้ บริษัทกรีโนเวชั่น เพาเวอร์ จำกัด (GNP) ประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม โครงการโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์ม กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด และ ต.หนองแวง อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา เพื่อจำหน่ายให้แก่หน่วยงานเอกชนและหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ สมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่มีการดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมนุม ไม่มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายการประกอบกิจการพลังงงาน พ.ศ.2550
รวมทั้งการอนุมัติการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ยังไม่เป็นไปตามประกาศ กกพ. ที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ว่า ผลกระทบด้านความปลอดภัย ให้กำหนดระยะห่างจากโคนเสากังหันลมไม่น้อยกว่า 3เท่าของผลรวมของความสูงเสากังหันลมบวกรัศมีใบพัดถึงเขตที่ดินของบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังที่ใกล้ที่สุดของชุมชนของเขตชุมชน ซึ่งตามกฎหมายโครงการดังกล่าวต้องอยู่ห่างจากเขตชุมชนไม่น้อยกว่า 630 เมตร แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ตั้งเสากังหันลมห่างจากเขตที่ดินของชาวบ้านที่ชุมนุมไม่ถึง 200
ทั้งนี้เมื่อโรงไฟฟ้าแห่งนี้เปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้ามาตั้งแต่เดือน มี.ค.2561 ได้สร้างมลภาวะเสียงดังรบกวนชาวบ้านในชุมชนโดยรอบโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งกลางวัน กลางคืน สร้างเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้าน 2 อำเภอทั้ง 957 คน ดังนั้น สมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมจึงได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาสั่งปิดโรงไฟฟ้าสราญรมย์วินด์ฟาร์มเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า กลุ่ม NGO พร้อมชาวบ้านได้ยื่นฟ้อง GNP บริษัทย่อยของบมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง(GUNKUL)) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยในเรื่องที่โครงการพลังลม GNP ขนาด 60 เมกะวัตต์ (MW) ไม่ได้ประเมินรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHlA) รวมถึงติดตั้งเสากังหันไม่เป็นไปตามประกาศของ กกพ. ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากมลภาวะทางเสียง
ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังผู้บริหาร GUNKUL ได้ชี้แจงว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม GNP กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.61 ได้มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจากการที่กลุ่มชาวบ้านจำนวน 957 คน ได้รับความเดือนร้อนจนต้องเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายถือว่าไม่อยู่ในข้อกำหนดต้องชดเชยตามเงื่อนไข แต่อย่างไรก็ตาม GUNKUL จะเดินหน้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลในขั้นตอนต่อไป ดังนั้น ถือเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อ
เบื้องต้นฝ่ายวิจัยยังคงประเมินมูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2561 วิธี DCF อยู่ที่ 4.0 บาทต่อหุ้น แต่ทั้งนี้เชื่อว่าราคาหุ้นในระยะสั้นมีโอกาสถูกกดดันจาก Sentiment เชิงลบดังกล่าว