เปิด 15 หุ้นขวัญใจ “Block Trade” ลุ้นเทรดสนั่นรับหุ้นไทยขาขึ้น!
เปิด 15 หุ้นขวัญใจ “Block Trade” ลุ้นเทรดสนั่นรับหุ้นไทยขาขึ้น!
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในการลงทุนผ่าน “Block Trade” เนื่องจากมองว่าวงเงิน block trade ที่เพิ่มขึ้นจะผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้การปรับลดวงเงินหลักประกันใหม่ของ Single stock future ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ก.ย. จะเป็นตัวกระตุ้นการเปิดสถานะตลาดฟิวเจอร์มากขึ้น โดยปัจจุบันการซื้อขายสัญญาดังกล่าวมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันและสถานะคงค้าง
โดย “ผู้สื่อข่าว” พบว่า ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนสิงหาคมมีปริมาณการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 7,331,282 สัญญา ปรับตัวขึ้น 1.16% โดยนักลงทุนแห่เก็งกำไร Block Trade ถึง 96.15% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่ นักวิเคราะห์แนะนำนักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นยอดนิยมในวงเงิน Block Trade ที่ปรับขึ้นสูงสุดในช่วง ก.พ.61 ก่อนจะปรับตัวลดลงมาตามแรงขายทำกำไรในช่วง มิ.ย.-ก.ค.61 ซึ่งมองว่าหุ้นในกลุ่มนี้จะเป็นหุ้นที่นักลงทุนจะกลับมาซื้อผ่าน Block Trade อีกครั้งได้แก่ ADVANC ,AMATA, AOT ,BANPU ,BBL ,BEM ,IVL ,PTT ,PTTEP, PTTGC, SCB ,SCC ,CPALL , PTTGC และTMB
ทั้งนี้ จากการสำรวจเพิ่มเติมพบว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนการซื้อขายสูงสุดได้แก่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มีสัดส่วนการซื้อขายสูงสุด อับดับที่ 2 คือ บล.เจพีมอร์แกน อันดับที่ 3 คือ บล.ภัทร อันดับที่ 4 คือ บล.หยวนต้า และอันดับที่ 5 คือ บล.บัวหลวง โดยสมาชิกที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกมีการซื้อขายรวมกัน คิดเป็น 37.72% ของตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง เผยตลาดหุ้นเดือนส.ค.ปรับตัวขึ้น 1.16% นักลงทุนแห่เก็งกำไร Block Trade 96.15% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังมูลค่าสถานะคงค้างของสัญญาดีดกลับ แม้ยอดคงค้าง KTC หายวูบหลุดอันดับ “บรรณรงค์ พิชญากร” เอ็มดีหลักทรัพย์บัวหลวง ยิ้มแก้มปริ ครองส่วนแบ่งการตลาด Block Trade 11.71%
ด้าน นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการธุรกรรม Block Trade ที่มีส่วนแบ่งการตลาด เมื่อคิดจากมูลค่าการซื้อขาย Block Trade SSF ในเดือนสิงหาคม 2561 ที่ระดับ 11.71% เปิดเผยว่า แม้ตลาดหุ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์รวมเบาบางโดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.16% แต่นักลงทุนยังคงเก็งกำไรระยะสั้นในธุรกรรม Block Trade
โดยมีปริมาณการซื้อขายธุรกรรม Block Trade ฟิวเจอร์สอ้างอิงหุ้นรายตัวสูงถึง 3,218,622 สัญญา คิดเป็นประมาณ 3,187 ล้านบาทเฉลี่ยต่อวัน เทียบกับการซื้อขายรวม Single Stock Futures ทั้งสิ้น 3,349,462 สัญญา เฉลี่ยประมาณ 3,314 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งมูลค่าการซื้อขายธุรกรรม Block Trade (คำนวณจากราคาปิด) 70,103 ล้านบาท เทียบกับมูลค่าการซื้อขายรวม Single Stock Futures 72,907 ล้านบาท คิดเป็น 96.15% ถือเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ขณะที่มูลค่าสถานะคงค้างเฉลี่ยรายวันคิดเป็น 27,971 ล้านบาท เพิ่มจากเดือนก่อนหน้า 25,687 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.89% ของมูลค่าสัญญาคงค้างเฉลี่ยรายวัน โดยมูลค่าคงค้างของ KTC หลุด 5 อันดับสูงสุด หลังจากติดอันดับต่อเนื่องถึง 4 เดือนที่ผ่านมา จากข่าวการตั้งสำรองหนี้สูญฯน้อยกว่าประมาณการ บวกผลประกอบการที่ผ่านมาดีกว่าคาด ทำให้นักลงทุนต่างเข้ามาเก็งกำไรสูงก่อนการแตกพาร์ ส่งผลให้หลังจากแตกพาร์ในเดือนกรกฎาคม ราคาหุ้นมีความผันผวน และตลาดซบเซาต่อเนื่องเดือนสิงหาคมจึงหลุดอันดับสถานะคงค้าง
สำหรับหุ้นอ้างอิงที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรกมีดังนี้
อันดับที่ 1 คือ หุ้นอ้างอิง PTT ที่มีสัดส่วนการซื้อขายสูง 11.82% หลังเข้าเก็งกำไรประเด็นช่วงโลว์ซีซั่นของอุปสงค์และค่าใช้จ่ายภาษีจ่ายพิเศษเพียงครั้งเดียวที่เกี่ยวเนื่องกับการนำ PTTOR เข้าจดทะเบียนใน SET อาจทำให้กำไรสุทธิไตรมาส 3 ปี 2561 ของ PTT ลดลง แต่คาดผลประกอบการของ PTT จะฟื้นตัวแรงในไตรมาส 4 ปี 2561 ทั้งนี้ PTTOR เข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ฯในไตรมาส 2 ปี 2562 จะปลดล็อคมูลค่าทางธุรกิจให้แก่ PTT ดังนั้นปัจจัยนี้จึงน่าจะหนุนราคาหุ้นในอนาคต
อันดับที่ 2 คือ หุ้นอ้างอิง CPALL ที่มีสัดส่วนการซื้อขายสูงถึง 7.02% จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปีได้รับวงเงินเพิ่มจะทำให้ผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นสำหรับใช้อุปโภคบริโภค โดยรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2561 ที่ 4.8 พันล้านบาท สูงขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 12% เมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อนหน้า ซึ่งผลประกอบการออกมาต่ำกว่าประมาณการของตลาด เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าคาด,ค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหารสูงกว่าที่ประเมิน และกำไรของ MAKRO น้อยกว่าคาดการณ์
อันดับ 3 คือ หุ้นอ้างอิง PTTGC ที่มีสัดส่วนการซื้อขายสูงถึง 5.38% โดยเข้ามาเก็งกำไรผลประกอบการค่าใช้จ่ายพิเศษและการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงในช่วงไตรมาส 2 ปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2561 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนบริษัทมีกำไรหลักเติบโต หนุนด้วยปัจจัย 3 ข้อ คือ 1.ค่าการกลั่นตลาดที่เพิ่มขึ้น 2.ปริมาณขาย ปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้น (ไม่มี การหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน ,สัดส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น, และโรงงาน mLLDPE ใหม่เริ่มดำเนินงานในเดือน มี.ค.) และ 3.ส่วนต่างราคา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ลดลงตามฤดูกาล
ขณะที่ธุรกรรม Block Trade ยังถือว่า เป็นที่สนใจในหมู่นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ และกลุ่มที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงในสถานะการณ์ที่ตลาดยังคงผันผวน จากการทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง อีกทั้งเงินวางหลักประกันที่ต่ำกว่า ผลตอบแทนที่สูงกว่าและค่าคอมมิชชั่นที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นโดยตรง รวมถึงสิทธิประโยชน์จากการขึ้นเครื่องหมาย XD ของหุ้นอ้างอิง นักลงทุนก็จะได้รับเงินปันผลด้วยเช่นกัน
ขณะที่ บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่าที่ประชุมกนง.ยังไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ซึ่งน่าจะไม่มีประเด็นกับตลาดมากนัก ส่วนประเด็นที่จะช่วยผลักดันตลาดต่อไปคือวงเงิน block trade ที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับตลาด กอปรกับการปรับลดวงเงินหลักประกันใหม่ของ Single stock future ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ก.ย. เป็นตัวกระตุ้นการเปิดสถานะตลาดฟิวเจอร์มากขึ้น ซึ่งมักเป็นตัวชี้นำ SET index
โดย กลยุทธ์การลงทุนเลือกหุ้นยอดนิยมวงเงิน Block Trade ขึ้น Peak ในช่วง ก.พ.61 ก่อนจะฟุบลงมาตามแรงขายทำกำไรในช่วง มิ.ย.-ก.ค.61 จะเป็นหุ้นที่นักลงทุนจะกลับมาซื้อผ่าน Block Trade อีกครั้งได้แก่ ADVANC ,AMATA, AOT ,BANPU ,BBL ,BEM ,IVL ,PTT ,PTTEP, PTTGC, SCB ,SCC และTMB
นอกจากนี้กลุ่มหุ้นที่ %Foreign Ownership อยู่ในระดับต่ำกว่า -1SD และมี Upside สูง มีโอกาสที่ต่างชาติจะซื้อคืนโดยมีตัวที่น่าสนใจดังนี้ BBL, KTB ,AP ,QH ,SIRI ,SPALI ,LH, ADVANC ,DTAC ,MEGA ,ROBINS, STEC ,HANA ,AMATA, MTC
อนึ่ง Block Trade เป็นการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(Futures)ประเภท Single Stock Futures (SSF) ที่อ้างอิงหุ้นใน SET50 และ SET100 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 93 บริษัท โดยใช้วิธีการจับคู่ซื้อขายที่ราคาและจำนวนสัญญาที่ตกลงกันไว้ โดยมีผู้ดำเนินการคือ บริษัทหลักทรัพย์ที่จะเข้าเป็นคู่สัญญาให้กับผู้ลงทุน
โดยการลงทุนประเภทนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็สูง (High Risk-High Return) นักลงทุนต้องใช้ความรอบคอบ และศึกษาข้อมูลให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการวางหลักประกัน แม้ว่าขั้นต่ำจะอยู่ที่เฉลี่ย 10% แต่ควรวางเผื่ออย่างน้อย 30-40% เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องระยะสั้น และลดความกังวลหากถูกเรียกหลักประกันเพิ่มเติม(Margin Call) ถ้าหากราคาหุ้นเคลื่อนไหวผิดทิศทางในระยะสั้น ซึ่งจะนำไปสู่การถูกบังคับขายหุ้น (Force Sell)ได้ กรณีนำเงินมาวางเพิ่มไม่ทันหรือไม่เพียงพอ และจะทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก