สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศ

สรุปภาวะตลาดหุ้นต่างประเทศประจำวันที่ 21 ก.ย. 2561


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่สองเมื่อวันศุกร์ (21 ก.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงหุ้นบริษัทโบอิ้งซึ่งมีการลงทุนจำนวนมากในจีนนั้น ยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดร่วงลงกว่า 0.5% หลังจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีดิ่งลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่ม FAANG (เฟซบุ๊ก แอปเปิล อเมซอน เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล)

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,743.50 จุด เพิ่มขึ้น 86.52 จุด หรือ +0.32% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,929.67 จุด ลดลง 1.08 จุด หรือ -0.04% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,986.96 จุด ลดลง 41.28 จุด หรือ -0.51%

ตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 2.2% ขณะที่ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนดัชนี Nasdaq ลดลง 0.3%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (21 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มการเงิน นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนขานรับดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ดัชนี Stoxx Europe ปิดบวก 0.4% แตะที่ระดับ 384.29 จุด

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,490.23 จุด เพิ่มขึ้น 122.91 จุด หรือ +1.67% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,494.17 จุด เพิ่มขึ้น 42.58 จุด หรือ +0.78% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,430.88 จุด เพิ่มขึ้น 104.40 จุด หรือ +0.85%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อวันศุกร์ (21 ก.ย.) เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ช่วยหนุนหุ้นบริษัทข้ามชาติดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการเจรจาระหว่างอังกฤษ และสหภาพยุโรป (EU) ในประเด็นที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หลังจากที่นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปได้แสดงความคาดหวังว่า การประนีประนอมในประเด็น Brexit ยังคงมีความเป็นไปได้

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,490.23 จุด เพิ่มขึ้น 122.91 จุด หรือ +1.67%

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อวันศุกร์ (21 ก.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ การที่ดัชนีดาวโจนส์ดีดตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่นการลงทุนในตลาดหุ้น

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 10 ดอลลาร์ หรือ 0.83% ปิดที่ 1201.3 ดอลลาร์/ออนซ์ และตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นน้อยกว่า 0.1%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 5.4 เซนต์ หรือ 0.38% ปิดที่ 14.359 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 4.6 ดอลลาร์ หรือ 0.55% ปิดที่ 829.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 70 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 1044.90 ดอลลาร์/ออนซ์

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (21 ก.ย.) จากการที่นักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรก่อนที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่ม ซึ่งได้แก่ รัสเซีย จะจัดการประชุมในวันอาทิตย์นี้ที่ประเทศอัลจีเรีย เพื่อหารือเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณการผลิตน้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 46 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 70.78 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 10 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 78.80 ดอลลาร์/บาร์เรล

ตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น 2.6% ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 0.9%

 

สกุลเงินปอนด์ร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (21 ก.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า อังกฤษอาจจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่สามารถทำข้อตกลงกับสหภาพยุโรปได้ หลังจากการเจรจาระหว่างสองฝ่ายประสบภาวะชะงักงัน

เงินปอนด์ร่วงลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.3078 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3267 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1746 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1775 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7283 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7290 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 112.52 เยน จากระดับ 112.46 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2921 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2911 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9586 ฟรังก์ จากระดับ 0.9595 ฟรังก์

Back to top button