จับตาคดี BEM-กทพ.ยาวพรืด ผงะมูลฟ้องร่วมหมื่นล้าน พ่วงข้อพิพาทชั้นอนุญาโตฯอีกเพียบ!!

จับตาคดี BEM-กทพ.ยาวพรืด ผงะมูลฟ้องร่วมหมื่นล้าน พ่วงข้อพิพาทชั้นอนุญาโตฯอีกเพียบ!!


จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ NECL ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยจ่ายเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด สำหรับปี 2542 จำนวน 780.80 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญา และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059.20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญา รวมเป็นจำนวนกว่า 1,800 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย

สำหรับคดีความดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ได้ก่อสร้างทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ตามสัญญาที่รัฐมนตรีมีมติให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ และกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ–รังสิต โดยบริษัทเห็นว่าเป็นทางแข่งขันกับทางด่วน สายบางปะอิน–ปากเกร็ด ตามที่กำหนดในสัญญา เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นที่ระบุไว้ว่าเป็นทางที่ไม่มีลักษณะแข่งขัน จึงร้องขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชำระเงินค่าชดเชยที่ปริมาณจราจรและรายได้ลดลงจากที่ประมาณการไว้

โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดว่า ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ–รังสิต เป็นทางแข่งขันที่ทำให้ปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งมีผลกระทบตามสัญญา จึงชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชำระเงินแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด และยกคำร้องของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า นอกจากคดีความที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายคดีความที่ทาง BEM ยื่นฟ้องต่อ กทพ. ซึ่งแบ่งเป็นข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองกลาง และคณะอนุญาโตตุลาการ

สำหรับข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด สืบเนื่องจากบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้การทางพิเศษฯ แบ่งรายได้ค่าผ่านทางพิเศษของโครงข่ายในเขตเมืองที่บริษัทฯ พึงได้รับเป็นจำนวนเงิน 3,831.48 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนับวันเปิดใช้งานของพื้นที่ส่วนแรกที่แตกต่างกัน

โดยต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้การทางพิเศษฯ ชำระเงินตามที่บริษัทฯ เรียกร้องพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552 การทางพิเศษฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งพร้อมออกคำบังคับให้การทางพิเศษฯ ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการโดยคำนวณดอกเบี้ยเพิ่มเติมจนถึงวันฟ้อง จำนวนเงิน 1,189.68 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 5,021.16 ล้านบาท

อนึ่ง คดีความดังกล่าว ศาลปกครองกลางได้ตัดสินให้ BEM ชนะคดี ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดต่อไป

ขณะที่ข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง เป็นกรณีเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหาย (โครงข่ายในเขตเมืองและนอกเขตเมืองของระบบทางด่วนขั้นที่ 2) จากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษปี พ.ศ. 2546 จำนวนเงิน 4,368.00 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา

โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมืองตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 และอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามที่บริษัทฯ เรียกร้อง จนกว่าจะมีการปรับและบังคับใช้อัตราค่าผ่านทางพิเศษให้เป็นไปตามที่เรียกร้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2551 พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ

ส่วนกรณีข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ระหว่าง BEM และ กทพ. มีทั้งหมด 5 คดีความ ประกอบด้วย

1) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2543 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ กทพ. ชดเชยผลกระทบจาก “เหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น” ตามสัญญาข้อ 19 อันเนื่องจากการเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและสภาวะดอกเบี้ยสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จำนวนเงิน 5.12 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ขณะนี้ข้อพิพาทอยู่ในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการกำหนดวันพิจารณา

2) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D จำนวนเงิน 1,048.24 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญา และชดใช้เงินค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษของรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 และอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามที่บริษัทเรียกร้องจนกว่าจะมีการดำเนินการปรับและบังคับใช้อัตราค่าผ่านทางพิเศษ ให้เป็นไปตามที่เรียกร้องไม่เกินวันที่ 31สิงหาคม 2551 พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

3) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ในปี พ.ศ. 2551 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมือง ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 9,091.79 ล้านบาท

4) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2556 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้เงินค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ในปี พ.ศ. 2551 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางรถยนต์แต่ละประเภทของทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ตามอัตราค่าผ่านทางในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาทจำนวนเงิน 4,062.83 ล้านบาท

5) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) (บริษัทย่อยของ BEM) ได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เรียกร้องให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในปี พ.ศ. 2546 เป็นเงินผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ทางพิเศษสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ตามอัตราค่าผ่านทางพิเศษในคำเสนอข้อพิพาทกับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 29 สิงหาคม 2546 ทุนทรัพย์ที่ยื่นข้อพิพาท จำนวนเงิน 69 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมมูลค่าการฟ้องร้องทั้งหมด 7 คดีความดังกล่าว พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 2.36 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากทาง BEM เป็นฝ่ายชนะคดี จะส่งผลให้บริษัทมีการบันทึกค่าเสียหายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัท และเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้นของบริษัท

Back to top button