จับตา! BEM จ่อฟันดอกเบี้ย “การทางพิเศษ” เซ่นค่าโง่ 5.23 พันลบ. ลือมีเจรจาเร็วนี้

จับตา! BEM จ่อฟันดอกเบี้ย "การทางพิเศษ" เซ่นค่าโง่ 5.23 พันลบ. ลือมีเจรจาเร็วนี้


จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ NECL ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM สำหรับปี 2542 จำนวน 780.80 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญา และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059.20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนดในสัญญา รวมเป็นจำนวนกว่า 1,800 ล้านบาท

ล่าสุด “ผู้สื่อข่าว” รายงานว่าตามสัญญาที่รัฐมนตรีให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ ระบุไว้ว่า หากมีคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ผิดนัดชำระหนี้เงินที่กำหนดในสัญญานี้จะต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสี่ (4%) ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละหก (6%) หากเงินจำนวนดังกล่าวค้างจ่ายเกินกว่า 30 วัน นับจากวันถึงกำหนดชำระ เหนืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสำหรับเงินฝากในกรุงเทพมหานคร ในวงเงินที่เกินกว่า 10 ล้านบาท ตามที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB จะกำหนดในขณะนั้น โดยคิดเป็นรายวันนับจากวันที่หนี้เงินถึงกำหนดชำระจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายที่ผิดนัดจะชำระเสร็จสิ้นทั้งต้นเงิน และดอกเบี้ย

ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นค่าชดใช้ที่ กทพ.จะต้องชำระให้กับ BEM สำหรับปี 2542 ซึ่งมีจำนวนเงินต้น 730,800,000  ล้านบาท หากรวมดอกเบี้ยร้อยละ 6 นับตั้งแต่วันที่ระบุในสัญญา (14 มิ.ย.2561) จะเท่ากับว่า กทพ.จะต้องจ่ายค่าชดใช้ดอกเบี้ยสำหรับเงินก้อนแรก 1,380,127,100 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,120,927,100 บาท 

ขณะที่ ค่าชดใช้สำหรับปี 2543 จำนวนเงินต้น 1,059,200,000 ล้านบาท หากรวมดอกเบี้ยร้อยละ 6 นับตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในสัญญา (22 มี.ค. 2561) เท่ากับว่า กทพ.จะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยสำหรับเงินก้อนที่ 2 จำนวน 2,052,580,040 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,111,780,040 บาท

ดังนั้น จะเท่ากับว่า กทพ.จะต้องจ่ายค่าชดใช้สำหรับคดีดังกล่าวให้กับ BEM ทั้งสิ้นเป็นเงินถึง 5,232,707,140 บาท จากเงินต้น 1,790,000,000 บาท บนสมมุติฐานการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอก ซึ่งมีการคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 เป็นรายวันตามที่ระบุไว้ในสัญญา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกิดกระแสข่าวขึ้นว่า กทพ.อาจจะมีการเจรจากับทาง BEM เพื่อขอชำระค่าชดใช้ในคดีดังกล่าวเป็นผลประโยชน์ในรูปแบบอื่น ซึ่งอาจจะไม่ใช่การชำระด้วยเงินสด ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม “ข่าวหุ้นธุรกิจ” จะรายงานให้ทราบในครั้งต่อไป

อนึ่งคดีความดังกล่าวสืบเนื่องจากบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ได้ก่อสร้างทางด่วนสายบางปะอิน–ปากเกร็ด ตามสัญญาที่รัฐมนตรีมีมติให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ และต่อมากรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ–รังสิต โดยบริษัทเห็นว่าเป็นทางแข่งขันกับทางด่วน สายบางปะอิน–ปากเกร็ด ตามที่กำหนดในสัญญา เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นที่ระบุไว้ว่าเป็นทางที่ไม่มีลักษณะแข่งขัน จึงร้องขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชำระเงินค่าชดเชยที่ปริมาณจราจรและรายได้ลดลงจากที่ประมาณการไว

Back to top button