พาราสาวะถี
ไม่มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ มีแต่เป็นไปตามคาดกับการประชุมเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทุกอย่างมาตามนัดเป็นไปตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้แบบเป๊ะเว่อร์ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมนั่งหัวหน้า สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพาณิชย์เป็นเลขาธิการ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั่งรองหัวหน้า ขณะที่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นโฆษกพรรค
อรชุน
ไม่มีบิ๊กเซอร์ไพรส์ มีแต่เป็นไปตามคาดกับการประชุมเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทุกอย่างมาตามนัดเป็นไปตามข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้แบบเป๊ะเว่อร์ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรมนั่งหัวหน้า สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพาณิชย์เป็นเลขาธิการ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั่งรองหัวหน้า ขณะที่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นโฆษกพรรค
ส่วนบรรดาคนการเมืองอื่น ๆ ที่มีข่าวก่อนหน้าก็มากันครบ ไม่ว่าจะเป็น อนุชา นาคาศัย จากกลุ่มสามมิตร เหลือที่กั๊กท่าทีแต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนคือ สมศักดิ์ เทพสุทิน และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รอแค่เวลาแต่งเนื้อแต่งตัวอีกเล็กน้อยแล้วค่อยเปิดตัว ส่วนตระกูลคุณปลื้มนั้นไม่พลาดอยู่แล้ว เพราะเป็นผู้ถือธงลุยภาคตะวันออกโดยอ้างเรื่องของอีอีซีเป็นเหตุผลในการเข้าร่วมพรรคสืบทอดอำนาจของคสช.
ไม่มีอะไรให้ต้องคิดมาก เปิดตัวกันขนาดนี้สิ่งที่เกิดขึ้นแค่พิธีกรรม ส่วนการถ่างขานั่งควบทั้งเก้าอี้ฝ่ายบริหารและทำงานพรรคการเมืองด้วยนั้น ลองท่านผู้นำประกาศเด็ดขาดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาก็ทำ แล้วทำไมรัฐมนตรีของคณะเผด็จการจะทำแบบนั้นไม่ได้บ้าง ยิ่งมีการอ้างข้อกฎหมายไม่ได้บังคับ แค่ประกาศตัวว่าจะไม่ใช้เวลาราชการและตำแหน่งไปเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคที่ตัวเองสังกัด แค่นี้ก็ถือว่าบริสุทธิ์ โปร่งใสแล้ว หรือใครคิดจะมีปัญหากับคนดีศรีสยาม
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาพรรคการเมืองจะพากันดาหน้าออกมาเรียกร้องให้ 4 รัฐมนตรีเลิกเอาเปรียบด้วยการสละหัวโขนในตำแหน่งบริหารแล้วมาลุยงานการเมืองกันแบบแฟร์ ๆ ลองเล่นการเมืองกันแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่เคยด่าการเมืองและนักการเมืองมาตลอด คงไม่ต้องไปถามหาสปิริต ก็ลงทุนร่างทุกอย่างมาขนาดนี้ ปูทางเพื่อการสืบทอดอำนาจเสียดิบดี โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เรื่องขี้ปะติ๋วแค่นี้จะไปแคร์ทำไม
อย่างไรก็ตาม มีข้อทักท้วงมาจาก สดศรี สัตยธรรม อดีตกกต.ที่ก็น่ารับฟัง เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังสำหรับผู้ที่ลงการเมืองในขณะที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้เอื้ออำนวยให้กับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเลือกตั้ง เพราะบางตำแหน่งก็ควบคุมดูแลบุคลากร เช่น กระทรวงมหาดไทยที่ดูแลกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แม้ว่าผู้ที่จะลงเลือกตั้งไม่ได้อยู่ในกระทรวงนั้น แต่ก็มีความเกี่ยวพันกันเพราะอยู่ในคณะรัฐบาลชุดเดียวกัน
การที่เข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งและยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ แม้กฎหมายไม่ได้ห้ามว่าจะต้องลาออก แต่เป็นมารยาททางการเมือง ควรลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อตัดสินใจลงการเมืองแล้ว และยิ่งการลงพื้นที่ไปครม.สัญจร จะต้องไปพบกับข้าราชการท้องถิ่นด้วย รวมไปถึงประชาชน มันจะเหมือนการหาเสียงกลาย ๆ แม้จะไม่มีเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ แต่การออกไปพบปะประชาชนหรือข้าราชการในท้องถิ่นมันก็อาจถูกมองว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่หาเสียงเลือกตั้ง
สิ่งสำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้คือ พรรคการเมืองอื่นไม่มีโอกาสได้ไปหาเสียงเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการปลดล็อก แต่คนที่เป็นรัฐมนตรีเมื่อมีหัวโขนเป็นผู้นำพรรคการเมืองแล้ว มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกัน แม้จะเลี่ยงบาลีอย่างไรก็หนีข้อครหาไม่พ้น เว้นเสียแต่จะใช้วิชาศรีธนญชัยและตีมึน อ้างความเป็นคนดี คิดดี ทำดี เป็นเกราะป้องกันอย่างเดียว
เมื่อมีหมวก 2 ใบคือ เป็นทั้งนักการเมืองที่จะลงเลือกตั้งและเป็นรัฐมนตรีด้วย ไม่ควรจะใช้หมวก 2 ใบในเวลาเดียวกัน ควรลาออกเพื่อเป็นมารยาททางการเมือง การขาดรัฐมนตรีไปบางคน คนที่อยู่ก็สามารถทำงานแทนกันได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งใหม่ก็ได้ และถ้าเป็นไปตามโรดแมปก็เหลืออีกไม่กี่เดือน ก็ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจ การไม่มีตำแหน่งในฝ่ายบริหารดูสง่างามมากกว่าการใส่หมวก 2 ใบ และจะได้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมด้วย
คงไม่ต้องไปถามท่านผู้นำแม้จะพยายามทำตัวให้เป็นนักการเมืองอาชีพ ดูสงบ นิ่มนวลขึ้น แต่ความที่ตัวเองมีอำนาจเด็ดขาดมาตลอดและชี้นิ้วสั่งการคนมาทั้งชีวิต การที่มีใครมากระแนะกระแหนและยิ่งถามหาความเป็นคนดี ถามหามารยาททางการเมือง คำตอบที่จะได้รับ เขียนแปะข้างฝารอได้เลย ใครจะฟ้อง ใครจะทำไม ในเมื่อยังไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย แล้วจะมาเรียกร้องอะไรกัน
ความจริงก็อยากจะคิดแบบนั้น แต่ถ้าลองย้อนไปฟังคำพูดของ สกลธี ภัททิยกุล อดีตส.ส.กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แปรพักตร์มาร่วมสังฆกรรมกับพรรคของคณะเผด็จการโดยได้รับตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม.ไปก่อนหน้านั้น ประกาศว่า กรณีพรรคเพื่อไทยมั่นใจมีฐานเสียงในภาคอีสานเหนียวแน่นนั้น พลังประชารัฐได้ดึงนายกอบจ. 12 จังหวัดภาคอีสานเข้าเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ซึ่งคนเหล่านี้ก็มีฐานเสียงในพื้นที่จำนวนมากเช่นกัน
เข้าใจว่าต้องการที่จะเกทับพรรคที่คณะเผด็จการมุ่งทำลาย แต่อีกด้านการประกาศเช่นนี้ก็ชวนให้คนคิดต่อไปว่า วิธีการที่ได้มาซึ่งตัวของนายกอบจ.ทั้ง 12 คนนั้นทำอย่างไร จะเหมือนอย่างที่คนของพรรคเพื่อไทยเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ มีการใช้คดีความรวมทั้งอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปกดดัน ใครยอมศิโรราบก็จะได้กลับไปทำหน้าที่พร้อมมีข้อเสนอแบบจุใจ
ความจริงหากมั่นใจในศักยภาพและผลงานที่ทำมาตลอดเวลากว่า 4 ปี และยิ่งโพนทะนาอยู่ปาว ๆ อย่าเลือกแบบเดิมจะได้แบบเดิม คณะเผด็จการสืบทอดอำนาจควรจะมองข้ามนักการเมืองเหล่านี้แล้วใช้คนดีที่ตัวเองการันตีไปลงสนามชิงชัย จะได้เป็นทางเลือกใหม่และคนรุ่นใหม่สมกับยุคปฏิรูป แต่พอปรากฏข่าวพลังดูดด้วยสารพัดเล่ห์กล มันจะต่างอะไรจากพวกสามานย์ที่ตัวเองดูแคลนมาตลอด
สรุปแล้วถ้าดูแนวโน้มการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น นอกจากการดึงตัวคนของพรรคใหญ่มาอยู่ใต้อาณัติของพรรคเผด็จการสืบทอดอำนาจแล้ว สารพัดวิธีสามานย์ก็น่าจะถูกงัดมาใช้เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบแบบสุด ๆ ไม่เฉพาะพรรคนายใหญ่เท่านั้นที่ถูกเล่นงานอย่างหนัก แม้แต่พรรคเก่าแก่ก็ไม่ได้รับการยกเว้น ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักให้เกิดคณะเผด็จการชุดนี้ก็ตาม นี่แหละผลของการไม่ยอมเดินตามวิถีของระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น เมื่ออยากเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เลยถูกเผด็จการที่สมบูรณ์เล่นงานโดยไม่แยแสว่าเคยเป็นพวกกันมาก่อน