ราคาเป้า CPALL ชวนฝัน…ความเป็นจริงสิ้นหวัง!?!
เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย กรณีโบรกเกอร์ระดับโลก “มอร์แกน สแตนลีย์” ออกโรงหั่นเป้าราคาพื้นฐานหุ้น CPALL ลง 11.5% ภายหลังแสดงอิทธิฤทธิ์หั่นเป้าโหดหุ้น AOT ลงเกือบ 30% มาแล้วก่อนหน้านี้
สำนักข่าวรัชดา
เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย กรณีโบรกเกอร์ระดับโลก “มอร์แกน สแตนลีย์” ออกโรงหั่นเป้าราคาพื้นฐานหุ้น CPALL ลง 11.5% ภายหลังแสดงอิทธิฤทธิ์หั่นเป้าโหดหุ้น AOT ลงเกือบ 30% มาแล้วก่อนหน้านี้
ก็ถือเป็นประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเป็นการปรับลดประมาณการและราคาเป้าหมายของหุ้นขนาดใหญ่ลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะมีสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยพื้นฐานจริง ๆ หรือมอร์แกนฯมองเห็นถึงอะไรบางอย่างในอนาคตหรือไม่ ก็สุดจะคาดเดา
ที่แน่ ๆ ด้วยชื่อชั้นของโบรกเกอร์จาก “มิดทาวน์ แมนแฮตตัน” เจ้านี้…ย่อมมีผลต่อแรงซื้อ-ขายของนักลงทุนต่างชาติในหุ้นทั้ง 2 บริษัทช่วงที่ผ่านมา อยู่เป็นแน่
ขณะเดียวกัน เมื่อไปสำรวจดูตัวเลขหนึ่ง คือ “การขายชอร์ต” ในหุ้น CPALL พบว่า มีความสอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
โดยมีปริมาณการชอร์ตคิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด
ต่อเนื่องมาถึงช่วงเปิดหัวเดือนมิถุนายน สัดส่วนก็ยังถือว่าเข้มข้นอยู่ที่ระดับ 3.7% ขณะที่สัดส่วนช่วงเดือนกรกฎาคมปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.18%
แต่ยังมิวาย กลับมาถูกชอร์ตหนักขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมที่กรอบสัดส่วน 1.35-2.65% กระทั่งล่าสุด ส่งท้ายเดือนกันยายนที่ระดับ 2.73%
การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น CPALL ปิดตลาด วันที่ 2 พ.ค. ที่ระดับ 88 บาท ก่อนลงมาทำจุดต่ำสุดของรอบเมื่อ วันที่ 5 ก.ย. ที่ระดับ 65.25 บาท หรือปรับลดลงแบบต่อเนื่องถึง 25.85%
โดยสัดส่วนการถูกขายชอร์ตดังกล่าว (นับเฉพาะกระดานหลัก) อาจดูไม่เยอะหากนำไปเทียบเคียงกับกลุ่มอื่นอย่าง “หุ้นคอมโมดิตี้” เช่น PTTEP ซึ่งมีธรรมชาติวิสัยทางธุรกิจแตกต่างอย่างสิ้นเชิง
เพราะขานั้นมักถูกเก็งราคาหุ้นจากความผันผวน หรือ Fluctuation ของการเคลื่อนไหวในส่วนราคาน้ำมันดิบ และหมายรวมถึงราคาก๊าซในตลาดโลกที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาด้วย
แต่กรณีของ CPALL ที่สัดส่วนการขายชอร์ตในบางช่วงบางตอนของกรอบเวลาข้างต้นถือว่า…มหาศาล!!!
นั่นจึงเป็นแรงกดดันที่เกิดขึ้นทั้งจากแรงขายที่มาจากการ “โอเพ่นชอร์ต” โดยตรง และแรงขายที่มาจากความกังวลต่อตัวเลขดังกล่าวในทางอ้อม
ขณะที่เมื่อสำรวจดูตัวเลขในภาพรวม นับตั้งแต่ วันที่ 2 พ.ค. 61 ถึง 28 ก.ย. 61 “หุ้นสะดวกซื้อ” รายนี้ถูกขายชอร์ตออกมาแล้วราว 60 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 4.35 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1.77% ของปริมาณการซื้อขาย
คิดออกมาเป็นราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 72.91 บาทต่อหุ้น ฉะนั้นด้วยราคาหุ้น CPALL ที่ปรับลงมาถึงระดับในปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก
ประกอบกับ ประเด็นเรื่องปัจจัยพื้นฐานช่วงนี้และต่อจากนี้ ยังคงถูกแขวนด้วยเครื่องหมายคำถามตัวเบ้อเริ่ม! เช่นนั้น สถานการณ์จึงถือว่า ไม่สู้ดีสักเท่าไหร่
อย่าง “มอร์แกน สแตนลีย์” ที่ปรับลดราคาเป้าลงมาก็เป็นผลจากรายได้ร้านสะดวกซื้อ คือ “เซเว่นฯ” เติบโตในอัตราที่ต่ำ แถมระบุไว้ชัดเจนด้วยว่ายังคงไม่มีอะไรตื่นตาตื่นใจ สำหรับช่วงไตรมาส 3 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ส่วนบริษัทย่อย คือ MAKRO ปัจจุบันมีคู่แข่งขันทางธุรกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนกลายเป็นปัจจัยลบต่อราคาขายสินค้า หนำซ้ำยังมีผลขาดทุนจากการไปก่อร่างสร้างตัวในต่างแดนอีกด้วย
หัวใจสำคัญคงอยู่ที่อัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเปิดใหม่ เมื่อนำมาเทียบเคียงตัวเลขของสาขาเดิม หรือ SSSG แล้วไม่สู้จะดีนัก
แน่นอน นั่นทำให้ตัวเลขกำไรขั้นต้นของทั้ง 2 บริษัทออกมาค่อนข้างอ่อนแอ แถมประเมินในส่วนของ CPALL ว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปจนถึงปีหน้า (2562) อีกด้วย
มีการจำลองสถานการณ์ แบ่งออกเป็น กรณีกระทิง (Bull Case) คือ 1. SSSG เติบโตในอัตราสูง และมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น 2. กำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้น 3. โครงสร้างการจัดการกู้ยืมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 4. ประสบผลสำเร็จในการลงทุนต่างประเทศ โดยให้ราคาเหมาะสมกรณีนี้ที่ 89 บาท ที่ “พีอีเรโช” เท่ากับ 31 เท่า ของประมาณการกำไรต่อหุ้นในปี 2562
กรณีเป็นกลาง (Base Case) คือ กำไรขั้นต้นปี 2561 ขยายตัวขึ้นจากปี 2560 ให้ราคาเหมาะสมที่ 77 บาท บนค่าพี/อี 30 เท่าของประมาณการปีหน้า ซึ่งเป็นราคาเป้าหมายใหม่ที่ว่าถูกปรับลดลงในครั้งนี้ด้วย
สุดท้าย กรณีหมี (Bear Case) คือ SSSG คงที่ และมีกำไรขั้นต้นในระดับต่ำไปจนถึงช่วงปีหน้า กำหนด “พีอีเรโช” ไว้ที่เพียง 24 เท่า ซึ่งนั่นหมายถึงราคาเหมาะสมหุ้น CPALL จะอยู่ที่ระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพียง 56 บาท เท่านั้น!!
นี่เป็นการหยิบยกความเห็นโบรกเกอร์ฝรั่งมาเพื่อสะท้อนความน่าจะเป็นในบางส่วนของแรงซื้อขายหุ้น CPALL จากนักลงทุนต่างชาติ ภายหลังจากนี้
ส่วนความเห็นนักวิเคราะห์ไทย แม้ชื่อชั้นอาจเป็นรองในแง่ของการเป็นที่รู้จัก “แบบอินเตอร์” แต่เชื่อว่าความรู้และความสามารถเฉพาะบุคคลย่อมไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน
โดยผลการสำรวจความเห็นล่าสุด เอาสั้น ๆ กระชับ ๆ คือ “10 โบรกฯ 10 ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมายแตกต่างกันออกไป แต่ล้วนแล้วได้ผ่านการปรับลดประมาณการรวมถึงราคามาด้วยกันเกือบทั้งสิ้น
และเป็นที่น่าสนใจ คือ “บล.ทรีนีตี้” ให้ราคาเป้าสูงเฉียดฟ้าถึง 101 บาท คิดเป็นอัพไซด์สูงปรี๊ดถึงกว่า 46%!!!
ก็คงต้องมาว่ากันหลังจากนี้ โดยเฉพาะเมื่อ CPALL ประกาศงบไตรมาส 3/2561 ว่าจะมีรูปหน้าค่าตาออกมาอย่างไร
ที่สำคัญอย่าลืมว่า ตัวเลขปริมาณการขายชอร์ต ณ วันที่ 28 ก.ย. 61 (ศุกร์ที่แล้ว) ที่สัดส่วน 2.73% นั้นเกิดขึ้นภายหลังเริ่มมีการ “คอฟเวอร์ชอร์ต” จนราคาขยับขึ้นจากระดับต่ำสุดของรอบที่ 65.25 บาท มาปิดสูงสุดของรอบที่ 71 บาท และยังถือเป็นระดับที่สูงกว่าสัดส่วนเฉลี่ยที่ 1.77% อยู่มาก
เช่นนั้น พอจะบ่งชี้ได้หรือไม่ว่าหุ้น CPALLกำลังกลับเข้าสู่เทรนด์การชอร์ตอีกครั้ง โดยมีสถิติเดิมอยู่ที่ 4%…ประการนี้ไม่ทราบได้
แน่นอน คงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า อะไรจะเกิดขึ้นหากยังคงมีปริมาณการขายชอร์ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากความกังวลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในช่วงหลังจากนี้
ส่วนใครมองเป็นโอกาสสำหรับการที่หุ้นอย่าง CPALL ปรับลงมาเป็นจังหวะเข้ารับ…ก็ถือเป็นเรื่องดี!!
แต่อย่าลืมมุมเสี่ยง เพราะเคยปรากฏมานักต่อนักแล้วว่า มือขาดทั้งหมู่บ้านก็ยังมี……………………………………..
อิ อิ อิ