ช้อป 3 หุ้นนิคมฯขาขึ้น รับ EEC ไฟเขียว 4 โครงการยักษ์!

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.61 ที่ผ่านมา นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เห็นชอบหลักการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (EEC Project List)


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.61 ที่ผ่านมา นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เห็นชอบหลักการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (EEC Project List) อีก 4 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาท หลังจากที่ได้เคยเห็นชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าจะมีการออกหนังสือชี้ชวนให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ต.ค.นี้

สำหรับโครงการเพิ่มเติมทั้ง 4 ดังกล่าว ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท (ภาครัฐ 17,768 ล้านบาท และภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท) , 2. โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานสนามบินอู่ตะเภา มูลค่าลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท  (ภาครัฐ 6,333 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 4,255 ล้านบาท)

3. โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 114,047 ล้านบาท และ 4. โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (รวมเงินลงทุนทั้งหมด ท่าเรือก๊าซ ท่าเรือสินค้าเหลว และพื้นที่คลังสินค้า) ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 55,400 ล้านบาท

ประเด็นดังกล่าวทำให้ทางนักวิเคราะห์มีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มอุปสงค์อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม EEC จะช่วยกระตุ้นให้เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาจำนวนมาก และผลักดันให้เกิดวัฏจักรการลงทุนรอบใหม่

เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคการผลิตของประเทศไทยทำจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนมีนาคม 2560 หลังจากนั้นก็เริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมา โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-curve)

ถัดมา คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดแก่ 10 อุตสาหกรรมเหล่านี้ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่อันจะส่งผลทำให้ความต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมเร่งตัวขึ้น

ขณะเดียวกันการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดว่าความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ 70,000 ไร่ ในระยะ 5 ปีข้างหน้า สูงกว่าความต้องการรวมทั้งหมดทั่วประเทศไทยที่ 17,000 ไร่ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้ไหลเข้ามาในภาวะที่สงครามการค้ารุนแรงมากขึ้น อย่างสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และผู้ผลิตจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน มาสู่อาเซียน

เมื่ออิงกับผลการสำรวจของ US AmCham China และ AmCham Shanghai พบว่าบริษัทอเมริกันประมาณ 1 ใน 3 จากจำนวนกว่า 430 บริษัทในจีนได้ย้ายหรือเตรียมย้ายฐานการผลิต โดยมีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่ง ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เบนเข็มออกมาจากจีน รวมถึงเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากจีนเอง

ส่วนหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์เชื่อว่าส่วนแบ่งเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงของประเทศไทยจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสู่ 0.6-0.9% ดีกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 0.3% อย่างมาก และจะส่งผลทำให้เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นสู่ระดับเฉลี่ย 1.0-1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561-2565 หรือคิดเป็นยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย 5,000-8,000 ไร่/ปี สูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 4,000 ไร่/ปี

เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้นจะหนุนให้โรงงานขยายกำลังการผลิต โดยปกติแล้วผู้ผลิตจะเริ่มวางแผนขยายกำลังการผลิตเมื่ออัตราการใช้กำลังการผลิตปรับขึ้นไปถึง 70% และอัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยก็ปรับขึ้นเข้าใกล้ระดับดังกล่าว โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยใน 6 เดือนแรกปี 2561 อยู่ที่ 69.5% สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 66.9%

อีกทั้งการขยายกำลังการผลิตจะหนุนให้เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และอุปสงค์อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายกำลังการผลิต ได้แก่ โลหะ อาหาร  เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า การแพทย์ โรงกลั่น เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ ซึ่งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

ทั้งนี้ทั้งนั้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกคงหนีไม่พ้นบริษัทที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวนั้นเอง

ดังนั้น Top picks ของกลุ่มนิคมยกให้  บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA เนื่องด้วยความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากจะเปิดโอกาสลงทุนให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสะสมที่ดินรอการพัฒนาโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC

ผลดังกล่าวทำให้หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์รวมโอกาสดังกล่าวเข้ามาไว้ในประมาณการสำหรับ AMATA, ROJNA และ WHA และใช้สมมติฐานอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 2.0 เท่า (เดิมใช้สมมติฐานว่าไม่มีการลงทุนใหม่) ส่งผลให้ปรับราคาเป้าหมายของ AMATA เพิ่มขึ้น 13% สู่ 33.00 บาท ขณะที่  ROJNA ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น 21% สู่ 8.50 บาท และ WHA ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น 15% สู่ 6.00 บาท โดยแนะนำ “ซื้อ” ทั้งสามบริษัท….

เนื่องจากทั้งสามบริษัทจะได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้น

Back to top button