ได้เวลาฉกฉวย

บริษัททุนสิงคโปร์ นำโดยกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ GIC มีงานเข้าครึ่งหลังของปีนี้ชนิด “จัดหนัก”


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

บริษัททุนสิงคโปร์ นำโดยกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ GIC มีงานเข้าครึ่งหลังของปีนี้ชนิด “จัดหนัก”

งานเข้าที่ว่าไม่ใช่เรื่องอื้อฉาวประเภทแต่งบัญชี หรือขาดทุนหนัก หรือคอร์รัปชันภายใน แต่เป็นการจับมือกับที่ปรึกษาการเงิน “ป้าชุลี” ระดับโลก เพื่อหาซื้อกิจการ ตราสารหนี้ หรือหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในกิจการ หรือบริษัทที่ประสบปัญหาจากสงครามการค้าที่ก่อขึ้นโดยสหรัฐฯ นั่นเอง

จะบอกว่า “ทรัมป์ทุบ สิงคโปร์ช้อนซื้อ” ก็อาจจะมากเกินไป แต่โดยพฤติกรรม มีส่วนเข้าข่ายไม่น้อย

ตามสถิติเท่าที่สื่อตะวันตกรวบรวมมาได้ที่ยืนยันแล้วล่าสุด คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ตัวเลขกิจการ และมูลค่าการซื้อสินทรัพย์และกิจการของเครือข่ายบริษัทที่นำโดย GIC จะทำสถิติใหม่ คิดเป็น 468 ธุรกรรม มูลค่ารวมประมาณ 9.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดแค่สิ้นเดือนกันยายน) และมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขในระหว่างเจรจาอีกบางส่วนในโค้งสุดท้ายของปี น่าจะทำให้ได้มูลค่ามากกว่าสถิติเดิมเมื่อ 3 ปีก่อนที่เคยทำไว้ 9.40 หมื่นล้านดอลลาร์

ภายใต้วิสัยทัศน์ โอกาส และการชี้แนะจาก 7 ที่ปรึกษาการเงินระดับโลกอย่าง JPMorgan Citigroup, Morgan Stanley, Bank of America, Lazard, Evercore และ Goldman Sachs บริษัทสิงคโปร์ที่มี GIC เป็นแกนนำ ได้ขนเงินหน้าตักเข้าซื้อทรัพย์สินและหลักทรัพย์ ทั้งในรูปถือหุ้นใหญ่ในฐานะหุ้นส่วนมีอำนาจในบริษัท หรือถือหุ้นแบบหุ้นส่วนหรือพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ หรือถือตราสารหนี้ในฐานะเจ้าหนี้รายสำคัญ หรือ ฯลฯ แล้วแต่สภาพเงื่อนไข

อัตราเติบโตระดับ 7.8% ของธุรกรรมและมูลค่า โดดเด่นกว่าค่าเฉลี่ยเติบโตของทั่วโลกแค่ 2% ใครบอกว่าธรรมดาก็แปลก

นอกจาก GIC แล้ว ยังตามมาด้วยบริษัทใต้เครือข่ายโดยตรงอย่าง Temasek Holdings ที่ดาหน้า “แยกกันซื้อ รวมกันทางยุทธศาสตร์” ต่อเนื่องในกิจการเป้าหมายทั่วโลก ยังตามมาด้วยกิจการใต้เครือข่ายที่ระดมเงินอีกทางเข้ามาดำเนินการ “ซื้อแหลก” ทำนองเดียวกัน อย่างเช่น Singapore Technologies Engineering Ltd. (เข้าซื้อกิจการ CapitaLand Ltd. จากมือกลุ่ม GE), Singapore Press Holdings (เข้าซื้อกิจการสถาบันการศึกษาในอังกฤษ), Keppel Infrastructure Trust (เข้าประมูลซื้อกิจการเคมีภัณฑ์ขนาดใหญ่ของออสเตรเลีย)

ข้ออ้างสูตรสำเร็จที่ว่าเป็นการขยายตัวแบบทางลัด หรือ inorganic growth ฟังดูผิวเผิน แต่คำอธิบายว่าการรุกในยามที่กิจการทั่วโลกบางแห่งที่มีอนาคตดี เกิดอาการซวนเซชั่วคราว เพราะเป็นเหยื่อของสถานการณ์ เป็นการฉลาดที่ “ซื้อของถูก” น่ารับฟังมากกว่า

ที่น่าสนใจมากกว่านั้น ตรงที่จำนวนรายชื่อของ “เหยื่อ” ของการซื้อกิจการ แม้จะไม่ได้มีมูลค่าโดดเด่นจนต้องฮือฮาเกินกว่า 20% เป็นกิจการในจีนและฮ่องกงที่ได้รับผลกระทบทางตรงและอ้อมจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่เริ่มขยายวงลุกลาม ซึ่งเชื่อกันว่าธุรกรรมกับกิจการในจีนน่าจะเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว โดยมุ่งเป้าไปที่ธุรกิจหลัก คือ อสังหาริมทรัพย์ และวิศวกรรม-เทคโนโลยี

จำนวนสัญญาซื้อกิจการในจีนของเครือข่ายสิงคโปร์ในปีนี้ผ่านไปแล้ว 68 รายการ มีมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ ก้าวกระโดดจากปีก่อนเกือบเท่าตัวที่ระดับ 1.95 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

คำถามว่าการเข้าซื้อกิจการทั้งทางตรงและอ้อมดังกล่าว มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่คำถามที่ควรถาม เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีต นับแต่ประสบการณ์ “ซื้อของถูก” ในไทยและอินโดนีเซีย หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา จนถึงล่าสุดในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ได้ให้บทเรียนมากมายว่า ตราบใดที่ยังมีเงินหน้าตักเป็นถุงเป็นถัง แม้ว่าการซื้อบางรายการอาจจะมีความผิดพลาดหรือคาดเดายาก แต่โดยภาพรวมแล้วก็เกินคุ้มการลงทุนทั้งสิ้น

การรุกคืบซื้อกิจการของทุนสิงคโปร์โดยกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ (ทั้งทางตรงและอ้อม ระยะสั้นและระยะกลาง) เป็นตัวอย่างรูปธรรมของการใช้อุตสาหกรรมการเงิน-ภาคบริการ และเทคโนโลยีสารสนเทศหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า โลกยุคใหม่นั้นอธิปไตยเหนือดินแดนมีราคาน้อย แต่ต้นทุนสูงกว่าอธิปไตยทางเศรษฐกิจ

การใช้กองทัพทุนการเงินขนาดใหญ่ในยุคที่ทุนท่วมโลกหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ อาจจะถูกมองว่านี่คือการ “ไล่ล่าเมืองขึ้นแบบใหม่” แทนกองเรือปืนไฟในยุคล่าอาณานิคมเมื่อ 2 ศตวรรษก่อน ในฐานะสงครามที่ไม่บอกกล่าว ที่อำมหิตโหดเหี้ยมแบบเร้นลึกและสร้างความเสียหายได้มากกว่าสงครามรูปแบบอื่น ๆ ไม่ใช่ประเด็นของสิงคโปร์ในฐานะรัฐขนาดเล็กที่รู้จักวิธี “เอาชนะตลาดโลก” ในรูปบรรษัทข้ามชาติ ใต้การบริหารของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ GIC (Government of Singapore Investment Corporation) และบริษัทเครือข่าย Temasek Holdings และ Temasek-Linked Companies-TLCs ที่มีกองทุนขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับ GDP ประเทศไทย ถือเป็นมากกว่าความชาญฉลาด

เป้าหมายรุกคืบแบบฉกฉวยของบริษัททุนสิงคโปร์ครั้งนี้ อาจจะไม่ได้ทำให้สิงคโปร์สามารถยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินอันดับหนึ่งของเอเชีย เทียบเคียงกับโตเกียว เซี่ยงไฮ้ หรือฮ่องกงได้ แต่ก็ถือว่ามีผลยกระดับให้ศูนย์กลางการเงินเหล่านี้หนาว ๆ ร้อน ๆ ได้ รวมทั้งศูนย์กลางการเงินอย่างดูไบ หรือโดฮาในตะวันออกกลาง

Back to top button