DTAC ลังเลประมูลคลื่น 900 MHz ใช้สิทธิยืดเวลาตัดสินใจไป 16 ต.ค.นี้

DTAC ลังเลประมูลคลื่น 900 MHz ใช้สิทธิยืดเวลาตัดสินใจไป 16 ต.ค.นี้


บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC แจ้งข้อมูลผ่านสื่อสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์วานนี้(8 ต.ค.61) ถึงการลาออกของ นางสาวธันวดี วงศ์ธีรฤทธิ์ จากการเป็นกรรมการของบริษัท โดยการลาออกมีผลนับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งคณะกรรรมการของบริษัทจะพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้ชี้แจงเรื่องการเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ว่าบริษัทจะยังไม่เข้าประมูลในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ โดยยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของบริษัท คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถยื่นเอกสารยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้ภายในวันที่ 16 ตุลาคม 2561

โดยชี้แจงรายละเอียดตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 890-895/935-940 MHz ลงวันที่26 กันยายน 2561 (ประกาศ กสทช.) ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สามารถยื่นเอกสารคำขอรับใบอนุญาตต่อสำนักงาน กสทช. ได้ในกรอบระยะเวลาดังนี้

สำหรับกรอบระยะเวลาที่หนึ่ง ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้ในวันที่9 ตุลาคม 2561

อย่างไรก็ดีประกาศ กสทช. ดังกล่าวเพิ่งจะได้รับการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 28 กันยายน 2561 ดังนั้น กำหนดเวลาวันที่ 9 ตุลาคม 2561 จึงเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดอันอาจทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมประมูล อาจไม่สามารถพิจารณาตัดสินใจยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้ทัน ประกาศดังกล่าวจึงได้ขยายระยะเวลาให้สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้อีกหากในวันที่ 9 ตุลาคม 2561 ไม่มีผู้ใดยื่นคำขอรับใบอนุญาตได้ทัน โดยจะขยายเวลารับคำขอรับใบอนุญาตไปจนถึงวันที่16 ตุลาคม 2561 (“กรอบระยะเวลาที่สอง”) นอกจากนี้หากมีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 9 ตุลาคม 2561 เพียงรายเดียว (กล่าวคือมีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว) ระยะเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตก็จะขยายออกไปอีกจนถึงวันที่19 ตุลาคม 2561 (“กรอบระยะเวลาที่สาม”)

โดยบริษัทเห็นว่าการพิจารณาเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากราคาขั้นต่ำของใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มีราคาที่สูงมากถึง 37,988 ล้านบาท และคลื่นความถี่ดังกล่าวยังมีข้อจำกัดต่าง ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่ซึ่งถึงแม้ว่า กสทช. จะได้แก้ไขหลักเกณฑ์ของประกาศ กสทช. ในเรื่องนี้บางประการแล้วก็ตาม แต่การรบกวนกันของคลื่นความถี่ก็ยังคงมีอยู่และเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาผลกระทบและทางแก้ไข ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้บริษัท ต้องนำมาศึกษาพร้อมทั้งจัดทำข้อวิเคราะห์และแผนรองรับและต้องพิจารณาปัจจัยทางการเงินและการระดมทุนต่าง ๆ

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาบริบทของการประกอบกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบันซึ่งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหลายรายต่างแจ้งต่อสาธารณะว่าจะไม่เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ ดังนั้น บริษัท จึงเห็นว่าหากบริษัทฯ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่9 ตุลาคม 2561 เพียงรายเดียว ระยะเวลาในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามประกาศ กสทช. ก็จะขยายออกไปอีกอยู่ดีตามที่กำหนดไว้ในประกาศ ซึ่งเป็นเพราะว่าประกาศ กสทช. มีเจตนารมณ์ให้มีการขยายเวลาออกไปเพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลได้มีเวลาตัดสินใจอย่างรอบคอบและสามารถเตรียมความพร้อมต่างๆ เกี่ยวกับการประมูลได้ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการพิจารณาของบริษัท ในเรื่องนี้จะเป็นไปโดยรอบคอบเป็นประโยชน์สูงสุด มีแผนงานรองรับรอบด้านสามารถเตรียมความพร้อมในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดีที่สุดอันจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้ใช้บริการและต่อบริษัท รวมถึงผู้ถือหุ้นโดยรวม บริษัทจึงเห็นควรใช้สิทธิตามกรอบระยะเวลาที่สองตามประกาศ กสทช. เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ให้รอบด้านที่สุด

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติในคราวการประชุมวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ว่าจะทำการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นเกี่ยวกับการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศ กสทช. ภายในวันที่16 ตุลาคม 2561 อันเป็นกรอบระยะเวลาที่สองในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามที่ประกาศกำหนดไว้โดยบริษัท จะยังไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 9 ตุลาคม 2561 อันเป็นกรอบระยะเวลาที่หนึ่งนี้ และในการนี้ คณะกรรมการได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายจัดการทำการชี้แจงต่อ กสทช. สาธารณะและต่อผู้ลงทุนทั่วไปให้ได้ทราบในเรื่องนี้ ให้ชัดเจน

อนึ่ง เมื่อบริษัท พิจารณาเกี่ยวกับการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่16 ตุลาคม 2561 ที่จะถึงนี้ ตามกรอบระยะเวลาของประกาศ กสทช. แล้ว บริษัทฯจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบต่อไป

Back to top button