โลกาวินาศเพราะเกมฆ่าตัวตาย
เกมรุกฆาตแบบฆ่าตัวตายของโดนัลด์ ทรัมป์และพวก ที่ยกเหตุสงครามการค้าขึ้นมาเพื่อหวังตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานของอเมริกัน ออกฤทธิ์ที่ดัชนีดาวโจนส์และแนสแด็กคืนวันพุธที่ผ่านมา ชนิดที่นักลงทุนเอเชียตั้งตัวเมื่อเช้าวานนี้ไม่ทันเลยทีเดียว ต้องตาลีตาลานลุกขึ้นมาสั่งขายทิ้งจ้าละหวั่นประเภท “โชคดีที่ตายก่อน”
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
เกมรุกฆาตแบบฆ่าตัวตายของโดนัลด์ ทรัมป์และพวก ที่ยกเหตุสงครามการค้าขึ้นมาเพื่อหวังตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานของอเมริกัน ออกฤทธิ์ที่ดัชนีดาวโจนส์และแนสแด็กคืนวันพุธที่ผ่านมา ชนิดที่นักลงทุนเอเชียตั้งตัวเมื่อเช้าวานนี้ไม่ทันเลยทีเดียว ต้องตาลีตาลานลุกขึ้นมาสั่งขายทิ้งจ้าละหวั่นประเภท “โชคดีที่ตายก่อน”
สถานการณ์ซ้ำรอยของดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ที่เคยเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลับมาใหม่ ปิดร่วง 831.83 จุด หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เร็วกว่าคาดในเดือนธันวาคม
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (PPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ พุ่งขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ถือว่าพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน
ทันทีที่มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ เมื่อเวลา 20.04 น. ตามเวลาไทยเมื่อคืนวานนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของตลาด เพราะใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐฯ ดีดตัวสู่ระดับ 3.241% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.401%
ราคาพันธบัตรที่วิ่งสวนทาง ส่งผลให้เกิดแรงเทขาย เพราะเชื่อว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ในไตรมาสที่สี่ ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของการช็อปปิ้งส่งท้ายปีเก่า เนื่องจากสินค้าที่เคยผลิตในจีน หรือมีชิ้นส่วนจากจีนจะต้องแพงขึ้นจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าในสงครามการค้าสหรัฐฯ จีน
เรื่องเช่นนี้ เคยมีการคาดเดาเอาไว้แล้ว แต่ที่ผ่านมา มีมายาคติจากนักลงทุนบางส่วนมองข้ามปัจจัยนี้ จนกระทั่งตัวเลขทางการออกมาย้ำชัดล่าสุดว่า โอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อจะต้องเกิดเร็วขึ้น ก่อนที่จะควบคุมไม่ได้
ตอนนี้ยังมีข่าวร้ายรออยู่อีก เพราะนักลงทุนกำลังจับตาการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (CPI) เดือนกันยายนของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ว่าจะมากกว่าหรือเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนี CPI จะเพิ่มขึ้น 0.2% โดยหากดีดตัวขึ้นมากกว่าระดับ 0.2% ก็จะเป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ตอนนี้ หลายคนเริ่มมีมุมมองเชิงลบ และหวนย้อนไปอ่านหรือถกกันถึงคำพยากรณ์ของ JP Morgan เมื่อหลายเดือนก่อนที่ว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ในอีก 2 ปีข้างหน้าจากการที่มีเหตุปัจจัยลบตามสูตร peak-to-trough performance ที่มีองค์ประกอบดังนี้
– ราคาหุ้นในสหรัฐฯ เฉลี่ยจะลดลง 20% จากระดับปัจจุบัน
– ยอดหนี้ภาคธุรกิจของบริษัทอเมริกันจะเพิ่มขึ้น ดันให้บอนด์ยีลด์ภาคธุรกิจพุ่งขึ้นอีกจากปัจจุบัน 1.15%
– ราคาพลังงานจะถล่มจากระดับปัจจุบัน 35% ในขณะที่ราคาแร่โลหะพื้นฐานจะร่วงลง 29%
– มูลค่าหนี้ของชาติในตลาดเกิดใหม่จะพุ่งขึ้น 2.79%
– ราคาหุ้นเฉลี่ยในตลาดเกิดใหม่จะถล่มทลายลงไปมากถึง 48% และค่าเงินสกุลท้องถิ่นตลาดเกิดใหม่ลดลง 14.4%
ข้อมูลที่กล่าวมา ทำให้หลายคนที่เคยบ่นว่าตกขบวนขาขึ้นอย่างน่าเขกกระโหลกตัวเอง ต้องปรับทัศนคติตนเองเสียใหม่
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน นอกจากเป็นการล่มสลายของฉันทามติวอชิงตัน (Washington Concensus) ที่สหรัฐฯ ในสมัยจอร์จ บุช ผู้พ่อ กำหนดเอาไว้หลังยุติสงครามเย็น พร้อมกับเริ่มต้นระบบโลกใหม่ ที่อเมริกากลายเป็น “มหาอำนาจเดี่ยว” ไม่ได้มีเฉพาะจีนเองเท่านั้นที่จะต้องถูกตัดจากวงจร “ห่วงโซ่อุปทาน” ระดับโลก ที่มีการแบ่งงานกันทำแล้ว สหรัฐฯ เองก็มีส่วนทำลายตนเองจากการตัดห่วงโซ่อุปทานที่คุ้นเคยกันมายาวนาน
คำว่า Think Globally, Act Locally ที่เคยเป็นคำขวัญของบริษัทข้ามชาติในยามที่กระแสโลกาภิวัตน์ขึ้นสู่จุดสูงสุด มากลายเป็น Think Locally, Act Selfishly แล้วพยายามชูคำขวัญใหม่ที่เลอะเทอะ ย่อมเป็นวิสัยทัศน์ที่สั้นกว่าหางเต่า ที่ย้อนกลับมาเล่นงานตนเองผ่านดัชนีดาวโจนส์ และตลาดทุนอเมริกัน
เพียงเริ่มต้นของสงครามการค้า ความเสียหายจากอหังการแบบอเมริกันคาวบอยก็เป็นเช่นนี้ อนาคตจะเป็นเช่นไรคงพอคาดเดาได้บ้างราง ๆ
บางทีสิ่งที่ JP Morgan เคยพยากรณ์เอาไว้ อาจเกิดขึ้นเร็วหรือมากกว่าที่ว่าเอาไว้
พูดเป็นเล่นไป