บัตรทอง Vs บัตรคนจน

นายกฯ โฆษกไก่อู เปิดวิวาทะกับ “หญิงหน่อย” ว่าด้วย “บัตรทอง” Vs “บัตรคนจน” กรณี ครม.มีมติให้ผู้ถือบัตรคนจนไม่ต้องจ่ายค่าบริการ 30 บาท


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

นายกฯ โฆษกไก่อู เปิดวิวาทะกับ “หญิงหน่อย” ว่าด้วย “บัตรทอง” Vs “บัตรคนจน” กรณี ครม.มีมติให้ผู้ถือบัตรคนจนไม่ต้องจ่ายค่าบริการ 30 บาท

เรื่องนี้ต้องลำดับว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” ของรัฐบาลไทยรักไทย ในตอนแรกให้ประชาชนร่วมจ่าย 30 บาท ไม่ว่ารวยหรือจน

หลังรัฐประหาร 2549 รัฐบาลขิงแก่ ให้เลิกเก็บ 30 บาท อยากลบสโลแกนไทยรักไทยหรือไรไม่ทราบ แต่ก็ดีกับประชาชน

จนรัฐบาลเพื่อไทย ไม่รู้คิดงี่เง่าอะไร ฟื้นให้เก็บ 30 บาท กระนั้นก็มีข้อแม้เป็นหางว่าว ยกเว้นคนจนคนพิการผู้สูงอายุ ฯลฯ แถมลงท้าย ใครไม่ประสงค์จะจ่าย ก็ไม่ต้องจ่าย โรงพยาบาลจำนวนมากเลยไม่เก็บ เพราะเพิ่มภาระ บางแห่งก็เก็บ แต่ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ

มาจนรัฐบาลนี้ จู่ ๆ กระทรวงการคลัง เจ้าของผลงานบัตรคนจน ก็เสนอ ครม.ยกเว้นผู้ถือบัตร 11.4 ล้านคน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขงุนงง ยกเว้นทำไม ในเมื่อไม่ต้องจ่ายอยู่แล้ว แต่เมื่อ ครม.มีมติ ก็ออกกฎกระทรวง ให้สื่อเอาไปพาดหัว “คนจนเฮ รัฐบาลใจดี ไม่ต้องจ่าย 30 บาท”

ทั้งที่ฝั่ง สธ. สปสช. สำทับว่า ใครไม่มีบัตรคนจนก็ไม่กระทบ ยังฟรีเหมือนเดิม ไม่อยากจ่ายก็ไม่ต้องจ่าย

คำถามน่าคิดคือ ทำไมไม่ทำอย่างยุคขิงแก่ เลิกเก็บ 30 บาท รักษาฟรีไปเลย ไม่ใช่ฟรีเฉพาะบัตรคนจน ที่เป็น “จุดขาย” ของรัฐบาลตน

แน่ละ ทั้งสองฝ่ายออกมาวิวาทะป้องนโยบายของตัวเอง แต่สังเกตให้ดี จะเห็นว่านโยบายไทยรักไทย กองทุนหมู่บ้าน 30 บาท รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี หรือแม้แต่นโยบายเรียนฟรีของประชาธิปัตย์ เน้นหลัก “ถ้วนหน้า” ขณะที่รัฐบาลนี้ แม้ปากบอกไม่ยกเลิกบัตรทอง ก็บ่นเสมอว่าเป็นภาระงบประมาณ และพยายามแยก “คนจน” ออกมาสงเคราะห์ต่างหาก

นี่ไม่ใช่ว่าท่านแยกชนชั้น แต่มันสะท้อนวิธีคิดรัฐราชการ ซึ่งไม่พอใจสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะราชการไม่สามารถเข้าไปใช้ดุลพินิจ ใช้อำนาจแยกแยะ ว่าใครควรช่วย ใครไม่ควรช่วย การช่วยเหลือราษฎร ตามแบบราชการ คือต้องมายื่นคำขอ ต้องลงทะเบียน ต้องผ่านการพิจารณา รับรอง ลงนาม ตามกฎระเบียบขั้นตอนต่าง ๆ

ทั้งที่เอาเข้าจริง การกลั่นกรองก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ เช่นบัตรคนจน กำหนดลวก ๆ แค่อายุ 18 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกินแสน มีบ้านไม่เกิน 25 ตารางวา นิสิตนักศึกษาลูกคนชั้นกลาง คนจบโทจบเอกยังไม่มีงานทำ หรือคนที่คู่สมรสมีรายได้เยอะ แต่ตัวเองไม่อยู่ในระบบภาษี แห่ไปลงทะเบียนกันมากมาย ขณะที่คนงานค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ใช้รถเมล์รถไฟฟรี

แต่การตลาด “สมคิดสไตล์” ไม่สนใจ เพราะหนึ่งได้ชื่อว่าช่วยคนจน สอง ได้หว่านเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

วิธีคิดแบบราชการ ที่มองว่าสวัสดิการถ้วนหน้าสิ้นเปลือง ต้องการระบบสงเคราะห์แบบราชการมีบุญคุณใช้ดุลพินิจ รวมทั้งไม่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพ (ขนาดเงิบออกทีวีคืนวันศุกร์) นี่เองที่ทำให้ผู้คนไม่ไว้วางใจ ว่ามีความต้องการใช้บัตรคนจนมาสอดไส้บัตรทอง รักษาฟรีเฉพาะผู้ที่ได้รับการสงเคราะห์ ที่เหลือต้องร่วมจ่าย ในอัตราสูงขึ้น ๆ ต่อไป

ในขณะเดียวกัน หลังจากพยายามแก้กฎหมายรื้อบอร์ด สปสช. แต่โดนค้านจนถอยไป ก็อ้อมกลับมาใช้กฎหมายซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ รวบ สปสช.เข้าไปไว้ใต้อำนาจบอร์ดราชการเป็นใหญ่ (แต่ไม่วายแซมตัวแทนบริษัทยา)

เพียงแต่ที่บอกว่า ไม่ล้มบัตรทอง ก็เพราะกลัวประชาชนต้าน แถมได้หน้าอีกต่างหาก เวลาโลกชื่นชม

Back to top button